กรมอนามัยห่วงหน้าฝน แนะดูแลสุขภาพเด็กเล็ก–ผู้สูงอายุใกล้ชิด หวั่นป่วยง่าย ลื่นล้ม

  • 14 กรกฎาคม 2564

          #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะช่วงหน้าฝน พ่อแม่ ต้องดูแลใส่ใจเด็กเล็กเป็นพิเศษ ป้องกันการป่วยง่าย สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาการทรงตัวไม่ดี ปัญหาสายตาและการได้ยิน แนะบุตรหลานดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด ป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้มเพราะในช่วงฝนตกพื้นทางเดินอาจมีน้ำขัง ทำให้ลื่นได้ง่ายแนะ ผู้ปกครอง ครู หมั่นดูแลสุขภาพเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนในช่วงหน้าฝนอย่างใกล้ชิด ป้องกันการป่วยง่ายจากโรคติดต่อแนะ ผู้ปกครอง ครู หมั่นดูแลสุขภาพเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนในช่วงหน้าฝนอย่างใกล้ชิด ป้องกันการป่วยง่ายจากโรคติดต่อ

          นายแพทย์สุวรรณชัยวัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าช่วงหน้าฝนพ่อแม่ต้องดูแลสุขภาพเด็กเล็กเป็นพิเศษ เพราะเสี่ยงป่วยง่าย เช่น โรคมือเท้าปากโรคไข้หวัดตามฤดูกาล ไข้หวัดใหญ่ ตาแดง อาหารเป็นพิษและไข้เลือดออกพ่อแม่จึงต้องคอยสังเกตอาการของเด็ก ซึ่งโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กช่วงหน้าฝนคือโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ โดยอาการจะมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่นปวดศีรษะไอ จาม หรือมีน้ำมูกไหลซี่งมีวิธีป้องกันแบบเดียวกับโรคโควิด-19  คือการสวมหน้ากาอนามัย  หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งและเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ  ควรสอนให้เด็กเช็ดน้ำมูก และปิดปากปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม การกินอาหารควรใส่ใจถึงความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเป็นพิษ หากพบว่ามีอาการท้องเสีย ปวดท้องและอ่อนเพลียมากควรรีบพบแพทย์ทันทีการดูแลเด็กเล็กไม่ให้ป่วยง่ายพ่อแม่ควรสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็ก โดยให้กินอาหารให้ครบ 5หมู่ เน้นปรุงสุก กินผักหรือผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินและดื่มน้ำอุ่นให้มากๆสอนใช้หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ป่วย ล้างมือเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยลงได้

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้สูงอายุ บุตรหลานควรดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เพราะในช่วงฝนตกพื้นทางเดินจะลื่นหรือมีน้ำขัง ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงได้รับบาดเจ็บจากการลื่นล้ม หรือพลัดตกบริเวณทางต่างระดับได้ง่ายเมื่อออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เนื่องจากผู้สูงอายุสุขภาพร่างกายเสื่อมถอยตามอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เช่น การทรงตัวไม่ดีแขนขาอ่อนแรง มีปัญหาทางสายตาและปัญหาการได้ยิน หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นพื้นและบันไดลื่น ชำรุด มีสิ่งกีดขวาง พื้นต่างระดับ แสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย ซึ่งผู้สูงอายุที่หกล้มมักจะได้รับบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน หรือบาดเจ็บที่ศีรษะ เสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

          “วิธีป้องกันและดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุเวลาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรเดินทางไปพร้อมผู้สูงอายุเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิด และต้องเลือกรองเท้ากันลื่นให้กับผู้สูงอายุ เพื่อช่วยในการทรงตัว ส่วนในกรณีที่อยู่ภายในบ้าน ควรปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม จัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง มีราวจับหรือราวพยุง มีแสงสว่างเพียงพอ จัดวางสิ่งของให้เป็นระเบียบ พื้นห้องเรียบเสมอกันและเป็นวัสดุที่ไม่ลื่น โดยเฉพาะในห้องน้ำซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ภายในห้องน้ำต้องมีราวจับที่อยู่ในระยะยึดจับได้อย่างทั่วถึงมีระบบระบายน้ำที่ดี และห้องน้ำไม่ควรอยู่ไกลจากห้องนอน สวิตช์ไฟต้องอยู่ในตำแหน่งที่เปิด-ปิดได้สะดวก เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอ”อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /14 กรกฎาคม 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH