กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด แนะวิธีป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี ลดเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อีกกลุ่มเสี่ยงที่ต้องป้องกันตนเองเป็นพิเศษ คือ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด และทารกแรกเกิดถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่ามีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่ แต่เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จึงมีโอกาสเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตระกูลเดียวกับ COVID-19 และไวรัสชนิดอื่นที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ จึงควรป้องกันตนเองด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่มีอาการไอ เป็นไข้ หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มี ผู้คนแออัด หรือรวมกลุ่มกันจำนวนมาก และรักษาระยะห่างในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น 2 เมตร นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตา ปาก จมูก และเลี่ยงการใช้ภาชนะใส่อาหารและของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอ หรือปรุงอาหารให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง ที่สำคัญ ต้องล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากมีอาการป่วยเล็กน้อย ควรพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หรือถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเหนื่อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
“กรณีหญิงตั้งครรภ์ และหญิงหลังคลอดที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย COVID-19 ควรแยกตนเองมีพื้นที่ส่วนตัวและสังเกตอาการจนครบ 14 วัน โดยงดการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น งดการออกไปในที่ชุมชนสาธารณะโดยไม่จําเป็นและงดการพูดคุย หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นในระยะใกล้กว่า 2 เมตร หากครบกำหนดนัดฝากครรภ์ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง 14 วัน เพื่อพิจารณาเลื่อนการฝากครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด ในกรณีเจ็บครรภ์คลอดต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าตนเองอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำนม เด็กทารกจึงกินนมแม่ได้ โดยก่อนเตรียมนมและการปั๊มนม แม่ควรอาบน้ำหรือเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านมหัวนมด้วยน้ำและสบู่ ล้างมือให้สะอาดนานอย่างน้อย 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัย ขณะเตรียมนมและการปั๊มนม เมื่อปั๊มนมเสร็จ ต้องล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น ที่ปั้มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์ และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ สำหรับ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ พ่อแม่ไม่ควรสวมหน้ากากให้เด็ก เพราะเด็กเล็กระบบการหายใจยังไม่แข็งแรงพอ อาจทำให้เด็กหายใจติดขัดได้
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 14 เมษายน 2563