กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุที่ดื่มน้ำน้อยอาจเกิด ภาวะขาดน้ำ แนะผู้ดูแลกระตุ้นให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องรอกระหาย
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากของเหลวสำรองในร่างกายที่ลดลง การตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลง ความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ซึมเศร้า สมองเสื่อม รวมถึงการได้รับยาบางชนิดเพื่อรักษาโรคประจำตัว ทำให้ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำมากกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ โดยพบว่า อาการที่แสดงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ เริ่มจากริมฝีปากแห้ง ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง รู้สึกอ่อนเพลีย ปัสสาวะลดลงหรือมีสีเข้มขึ้น รวมถึงการเป็นตะคริวได้ง่าย นอกจากนี้ หากผู้สูงอายุมีภาวะขาดน้ำที่รุนแรงมากขึ้น จะพบว่ามีชีพจรเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย มีภาวะสับสน หมดสติ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและไตวายได้ โดยส่วนใหญ่พบว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ จะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน แต่จะสังเกตได้ง่ายเมื่อมีความรุนแรงแล้ว
นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนบางครั้งใกล้เคียง หรือมากกว่าอุณหภูมิในร่างกายนั้น อาจจะเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายของผู้สูงอายุสูญเสียน้ำมากกว่าปกติ ผู้ดูแลจึงควรจัดหา น้ำสะอาดไว้ให้ผู้สูงอายุดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และกระตุ้นให้ดื่มทุกชั่วโมงอย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องรอกระหาย โดยสามารถจัดหาแก้วที่มีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด ด้วยการวางแก้วน้ำไว้บนโต๊ะข้างเตียง ไม่ควรให้ผู้สูงอายุดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำมากยิ่งขึ้น แต่ในกรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว อาทิ ไตวายเรื้อรัง โรคหัวใจ ควรดื่มน้ำตามปริมาณที่แพทย์ผู้รักษาแนะนำ
“สำหรับการป้องกันความเสี่ยงของผู้สูงอายุจากความร้อน ทำได้โดยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านพัก อาคาร หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือหากไม่มีเครื่องปรับอากาศ แนะนำใช้พัดลม เปิดให้ห่างจากตัว อย่าหันพัดลมเป่าเข้าตัวโดยตรง ให้เปิดพัดลมแบบส่าย เปิดประตู-หน้าต่างเพื่อระบายอากาศ หากอากาศร้อนจัดควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน แต่หากจำเป็นควรสวมหมวก เสื้อแขนยาวมีสีอ่อน กางเกงขายาว หลวม น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี กางร่มเพื่อป้องกันแสงแดด และพกน้ำดื่มติดตัวตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้ดูแลควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับความร้อน หากพบอาการ เช่น ตะคริว หน้ามืด เป็นลม อ่อนเพลียมาก หรือซึมสับสน ให้รีบติดต่อสายด่วน 1669 แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือพาไปพบแพทย์ทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 14 มีนาคม 2565