กรมอนามัย เผย 16 ปีโครงการฟันเทียมพระราชทาน ช่วยสูงวัยมีฟันเคี้ยว 711,339 ราย

  • 13 ตุลาคม 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดำเนินงานโครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยร่วมกับหน่วยบริการทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายจัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากหรือเกือบทั้งปาก ตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ให้บริการผู้สูงอายุจำนวน 711,339 ราย ช่วยแก้ปัญหาการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้

          นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม 2564  เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยน้อมรำลึก ในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จากกระแสพระราชดำรัสความว่า “เวลาไม่มีฟัน กินอะไร  ก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยร่วมกับหน่วยบริการทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายได้ดำเนินงานโครงการฟันเทียมพระราชทานตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน สามารถจัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากผู้สูงอายุจำนวน 711,339 ราย เพื่อแก้ปัญหาการสูญเสียฟันจนไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ของผู้สูงอายุ ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งจากข้อมูลระบบบริการสาธารณสุข (HDC) ปี 2564 ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 30 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่ และจากผลการสำรวจ สภาวะทันตสาธารณสุข ปี 2560 พบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุด โดยพบผู้สูงอายุ 60-74 ปี  มีฟันแท้ใช้งานได้เฉลี่ย 19 ซี่/คน และผู้สูงอายุร้อยละ 18 ต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วน ร้อยละ 6.5 ต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปาก และมีความต้องการใส่ฟันเทียมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็นร้อยละ 18.9 ในผู้สูงอายุ 80-85 ปี 

          “ทั้งนี้ ผู้สูงอายุที่เหลือฟันแท้น้อยกว่า 20 ซี่ และใส่ฟันเทียมทดแทน ต้องถอดออกมาทำความสะอาด    หลังกินอาหารทุกมื้อ ก่อนนอนให้ถอดออกแช่น้ำสะอาดทุกครั้ง และควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง  เพื่อตรวจสภาพฟัน เหงือก รวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปากและซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ    ไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผล เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุ จะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ นอกจากนี้ ควรลดกินอาหารหวาน เหนียว เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเกาะติดผิวฟันเป็นเวลานาน ทำความสะอาดยาก เสี่ยงเกิดฟันผุ และควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกขณะเคี้ยวได้ ให้เน้นกินผักผลไม้ที่มีกากใยแทน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย/ 13 ตุลาคม 2564

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH