กรมอนามัย ชวน สายบุญตักบาตรพระสงฆ์ ด้วยเมนูชูสุขภาพ

  • 13 กรกฎาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนพุทธศาสนิกชนสายทำบุญ ร่วมตักบาตร ถวายอาหารเพล ในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เน้นเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์

 

                    นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันอาสาฬหบูชา  และวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ถือโอกาสนี้ทำบุญตักบาตร รวมถึงถวายเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จึงขอแนะนำตักบาตร ถวายภัตตาหารด้วยอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย  เน้นข้าวแป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ธัญพืชเต็มเมล็ด ที่อุดมไปด้วยใยอาหาร  และวิตามิน อาหารประเภทปลา เต้าหู้ ไข่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ผักพื้นบ้านหลากหลายชนิด ผลไม้ตามฤดูกาลรสไม่หวานจัด รวมทั้งนมจืด นมพร่องมันเนย โยเกิร์ตรสธรรมชาติ น้ำเปล่า น้ำปานะหวานน้อย อาหารที่ปรุงถวายให้เน้นประเภทต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ลวก น้ำพริก ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารกะทิ อาหารทอด ขนมหวานจัด อาหารแปรรูป อาหารหมักดอง ที่สำคัญ อาหารที่นำมาถวาย    ควรเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ มีประโยชน์ตามหลักโภชนบัญญัติ 9 ประการ เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ และอานิสงค์ผลบุญของผู้ถวาย

                    ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า เมนูที่เลือก   นำมาถวายควรเป็นเมนูชูสุขภาพที่ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์ อาทิ 1) แกงจืดเลือดหมู ที่ปรับลดปริมาณซีอิ๊วขาว และเพิ่มประโยชน์จากผักหลากหลาย เช่น ตำลึง จิงจูฉ่าย ผักกาดหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย 2) ข้าวผัดผักรวมมิตร ปรับจากข้าวขาวเป็นข้าวกล้องหรือข้าวขาวผสมข้าวกล้อง ลดปริมาณเครื่องปรุงรสที่ไม่จำเป็น และเพิ่มธัญพืช เช่น ข้าวโพด ถั่วลันเตา ถั่วแดง แปะก๊วย ลงไปช่วยเพิ่มสีสัน ชวนรับประทานและยังได้ความหวานตามธรรมชาติด้วย 3) แกงเขียวหวานไก่ ปรับจากกะทิเป็นใช้นมสดแทน ซึ่งความอร่อยไม่ด้อยกว่า  แต่ให้พลังงานน้อยลง ลดปริมาณน้ำปลา น้ำตาล และเพิ่มผัก ซึ่งเป็นแหล่งของใยอาหารจะช่วยลดการดูดซึมไขมันในแกงเขียวหวาน และหากต้องการเพิ่มอาหารว่างในส่วนของการทำบุญ ควรจัดแบ่งเป็นชุดเล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานมากเกินไป อาทิ 1) สาคูไส้หมู 2 ลูก พร้อมกับผักสด แตงโม 2 ชิ้น กาแฟดำร้อนแบบไม่เติมน้ำตาล หรือน้ำเปล่า 2) ขนมกล้วย 1 ชิ้น มะละกอสุก 4 ชิ้น ชาร้อน  3) ข้าวเกรียบปากหม้อไส้ผัก 2 ชิ้น ชมพู่ 2 ชิ้น น้ำเปล่า

                   “ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำปานะ หรือน้ำที่คั้นจากผลไม้ที่ไม่มีเนื้อหรือกากเจือปน โดยเติมน้ำสะอาดปรุงรสด้วยน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่พระสงฆ์ฉันได้หลังเพลไปแล้วเพื่อบรรเทาความหิวข้อควรระวังคือ ปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในเครื่องดื่ม การได้รับน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย และขาดการเคลื่อนไหวออกแรง น้ำตาลจะถูกเปลี่ยนไปเป็นไขมันและไปสะสมอยู่บริเวณต่าง ๆ  ของร่างกาย ทำให้พระสงฆ์เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ จึงควรถวายเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย หรือปราศจากน้ำตาล หลีกเลี่ยงถวายเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ชาหรือกาแฟสำเร็จรูป เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูง” ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าว

***

กรมอนามัย / 13 กรกฎาคม 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH