กรมอนามัย ห่วง กลุ่ม 608 เข้าวัดทำบุญวันอาสาฬหบูชา – เข้าพรรษา ย้ำ ปฏิบัติตามหลัก UP–DMHTA

  • 13 กรกฎาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงกลุ่ม 608 เข้าวัดทำบุญในช่วงวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา  ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนทำบุญเป็นจำนวนมาก แนะนำให้เฝ้าระวังและป้องกันตนเองตามหลัก UP–DMHTA  โดยเน้นย้ำการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และล้างมือ ถือเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่สำคัญ เพื่อป้องกันโรค

                       นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เนื่องในวันสำคัญทางศาสนา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนมักเดินทางไปทำบุญเป็นจำนวนมาก กรมอนามัยมีความห่วงใย ความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชน จึงขอให้ป้องกันตนเองขั้นสูงสุดด้วยหลัก UP–DMHTA ซึ่งหากเป็นประชาชนทั่วไป ขอให้ปฏิบัติดังนี้ 1) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด อากาศถ่ายเท ไม่สะดวก หรือต้องทำกิจกรรมที่มีคนร่วมกันจำนวนมาก 2) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง  เมื่อสัมผัสวัตถุ หรือสิ่งของที่ใช้ร่วมกัน และให้หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า 3) คัดกรองตนเองเมื่อมีอาการ หรือเมื่อมีความเสี่ยงด้วย ATK และ 4) รับวัคซีนตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนกลุ่มที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่ม 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่น หรือในศาสนสถาน ที่มีความแออัด

                        นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ศาสนสถานที่มีการจัดทำโรงทานเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่มาร่วมงานบุญนั้น ควรมีการคุมเข้มด้านความสะอาด ปลอดภัย และป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ สถานที่เตรียมปรุง และจุดรับอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค โดยสถานที่ตั้งโรงทานควรอยู่ในพื้นที่โล่งมีการระบายอากาศได้ดี ส่วนแม่ครัวผู้ปรุงประกอบอาหาร ผู้สัมผัสอาหาร ต้องล้างมือให้สะอาด ไม่ควรสัมผัสอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ดิบโดยตรง หากมือมีบาดแผลต้องทำความสะอาดปิดแผลให้เรียบร้อย และหลีกเลี่ยง   การหยิบจับอาหาร รวมทั้งแยกภาชนะ อุปกรณ์ปรุงประกอบอาหาร เช่น เขียง มีด ระหว่างอาหารสุก และอาหารดิบ  ปรุงอาหารสุกอย่างทั่วถึงด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที หลีกเลี่ยง    การปรุงประกอบอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิ เป็นต้น สำหรับอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วให้วางไว้บนโต๊ะสูง    ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีการปกปิดอาหาร และอุ่นอาหารให้ร้อนทุก ๆ 2 ชั่วโมง รวมทั้งใช้อุปกรณ์สำหรับหยิบจับ หรือตักอาหารด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ส่วนของด้ามจับตกหล่นหรือสัมผัสกับอาหาร

                         “นอกจากนี้ ความสะอาดปลอดภัยของส้วมสำหรับให้บริการผู้ที่มาทำบุญก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยขอความร่วมมือ    วัด ศาสนสถานทุกแห่ง ทำความสะอาดบริเวณผิวสัมผัสร่วม 7 จุดเสี่ยง ได้แก่ สายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ ลูกบิดหรือกลอนประตู ที่รองนั่งโถส้วม พื้นห้องส้วม และที่เปิดก๊อก ส่วนประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดต้องช่วยกัน  รักษาความสะอาด และมีพฤติกรรมในการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยปิดฝาโถส้วมก่อนกดชักโครกทุกครั้ง เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค เว้นระยะห่าง ขณะรอใช้ส้วมสาธารณะ 1-2 เมตร ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ  เช็ดฆ่าเชื้อก่อนนั่งลงบนโถส้วม ไม่ทิ้งวัสดุใด ๆ ลงในโถส้วม และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้งหลังใช้ส้วม เป็นการสร้างสุขอนามัยที่ดีให้กับตนเอง และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังส่วนรวมด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 13 กรกฎาคม 2565

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH