กรมอนามัย เตือน กินหอย ต้องลวกสุกในน้ำเดือด หรืออบ – นึ่งนาน 7 นาที ลดเสี่ยงเชื้อโรค

  • 14 ธันวาคม 2563

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อค้าแม่ค้าจำหน่ายหอยลวก หอยอบหรือนึ่งในตลาดคุมเข้มความสะอาด สุขอนามัย ให้ลวกในน้ำเดือนนาน 1-2 นาที หากอบหรือนึ่งต้องนาน 5-7 นาที ช่วยทำลายเชื้อโรคได้หมด พร้อมย้ำน้ำจิ้มปรุงสะอาด ปริมาณพอเหมาะ เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมฃ

 

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า  จากกรณีที่โลกโซเชียลได้แชร์ข้อความจากสมาชิกเฟสบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความว่า “กินหอยแมงภู่ ตาย1 ดูอาการ 2 ท้องร่วงแบบแรงมุกดาหารวันนี้”  โดยเหตุการณ์เกิดขึ้น คืนวันที่ 4 ธันวาคม ลูกชายได้ซื้อหอยแมลงภู่ มาจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง 3 ถุง หนัก 3 กิโล ในราคา 100 บาท นำกลับมากินกันพร้อมหน้า พ่อแม่ลูก แต่ลูกชายกินหอยเยอะที่สุด จากนั้นลูกชายเกิดอาการท้องร่วง อย่างรุนแรงอีกครั้ง จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลและก็เสียชีวิตลงนั้น จากกรณีนี้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายหอยลวกหรือ  อบ นึ่ง ต้องใส่ใจความสะอาดและสุขอนามัยให้มากขึ้น เพราะการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารประเภทอาหารทะเล          ซึ่งมักพบการปนเปื้อนเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น วิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส, เชื้อวิบริโอ วัลนิฟิคัส เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้         พบได้ทั่วไปในน้ำทะเลตามธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ควรกินหอยดิบหรือหอยที่ปรุงไม่สุกดี ควรแยกอาหารสุกและดิบออกจากกันเพื่อป้องกันการปนเปื้อน และล้างภาชนะที่ใช้ใส่หอยดิบให้สะอาดก่อนนำไปใส่อาหารอื่นด้วย ส่วนการลวก อบหรือนึ่งนั้นใช้เวลานิดเดียว ลวกเพียงไม่กี่วินาที อีกทั้งน้ำที่ใช้ลวกก็ไม่เดือดแค่ร้อน ๆ และไม่ได้มีการเปลี่ยนน้ำบ่อยอาจทำให้เกิดเชื้อโรคปนเปื้อนได้ หรืออาจนึ่งตั้งแต่เช้าแล้วนำมาจำหน่ายในช่วงเย็น มีโอกาสเสี่ยงเชื้อโรค ไม่ถูกทำลายเพิ่มจำนวนได้ ดังนั้น หากจะทำลายเชื้อโรคด้วยการลวกพ่อค้าแม่ค้าจะต้องทำในน้ำเดือดนาน 1-2 นาที    ส่วนวิธีอบหรือนึ่งหอยแมลงภู่ต้องใช้เวลา 5-7 นาที จึงสามารถทำลายเชื้อโรคได้หมด

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับประชาชนผู้บริโภคเพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารทะเลประเภทลวก อบหรือนึ่ง ก่อนกินทุกครั้งให้นำมาปรุงสุกหรืออุ่นให้ร้อนอีกครั้ง ในกรณีที่ปรุงอาหารเองการเลือกซื้ออาหารทะเลควรเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดที่ได้มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ หรือ ตลาดนัด น่าซื้อ ของกรมอนามัย  ซึ่งมีจะการสุ่มตรวจการปนเปื้อนอยู่เสมอ และเมื่อซื้ออาหารทะเลมาแล้ว หากไม่กินทันทีควรเก็บใส่ตู้เย็นเพื่อชะลอ  การเน่าเสีย ก่อนนำมาปรุงอาหารต้องล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง อีกทั้งการกินอาหารทะเลให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อนใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเลดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ และควรแยกอาหารทะเลที่ปรุงสุกและที่ยังไม่สุก      ออกจากกัน ที่สำคัญยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง

          “ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างคือน้ำจิ้ม เพราะพ่อค้าแม่ค้าบางรายทำน้ำจิ้มไว้ปริมาณมากและทิ้งไว้นาน ซึ่งถ้าเก็บรักษาไม่ถูกวิธีอาจทำให้ผู้บริโภคท้องร่วงได้ ซึ่งหลังจากปรุงน้ำจิ้มเสร็จแล้ว หากยังไม่ได้นำออกจำหน่ายควรเก็บไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่ที่มีอุณหภูมิประมาณ 5-10 องศาเซลเซียส ควรนำออกมาใช้ในปริมาณที่พอเหมาะต่อวัน และใช้ภาชนะสะอาด ในการตักแบ่งน้ำจิ้มเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค ที่สำคัญควรล้างพริก รากผักชี และกระเทียมให้สะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบ สำหรับผู้บริโภคควรสังเกตจากสี กลิ่นและรสชาติ หากพบความผิดปกติไม่ควรบริโภค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 12 ธันวาคม 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH