กรมอนามัย เตือน ช่วงอากาศร้อนจัดขับรถทางไกล ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมากไป เสี่ยง ใจสั่น มือสั่น อาจเกิดภาวะขาดน้ำและกาเฟอีนตกค้างในร่างกาย

  • 12 เมษายน 2566

 

            #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงอากาศร้อนจัดคนขับรถทางไกล ที่ชอบดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังหากมากเกินไป เสี่ยงได้รับกาเฟอีนเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น มือสั่น แนะควรดื่มแต่พอดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง จิบน้ำเปล่าให้บ่อย ช่วยร่างกาย สดชื่น แก้ง่วง ป้องกันภาวะขาดน้ำและกาเฟอีนตกค้างในร่างกาย

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด อาจทำให้การจราจรหนาแน่นติดขัด ประกอบกับช่วงนี้มีอากาศร้อนจัด ทำให้ผู้ขับรถอาจมีอาการง่วงและเหนื่อยล้า เพลียแดด ผู้ขับรถบางรายจึงใช้วิธีการดื่มกาแฟ เพราะหวังให้กาเฟอีนในกาแฟช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว และสามารถขับรถต่อเนื่องได้นาน ทั้งนี้ โดยปกติร่างกายไม่ควรได้รับกาเฟอีนเกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่การดื่มกาแฟมากเกินไป เช่น มากกว่า 4 แก้วต่อวัน อาจทำให้ร่างกายได้รับกาเฟอีนมากถึง 500 – 1000 มิลลิกรัม เกิดกาเฟอีนตกค้างในร่างกาย ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น และมือสั่น และกาเฟอีนยังลดการดูดน้ำกลับ ทำให้ไตขับน้ำออกมาเยอะขึ้น กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น หากดื่มน้ำน้อยเกินไปในช่วงที่อากาศร้อนจัดแบบนี้ อาจเสี่ยงภาวะขาดน้ำ วูบหรือเกิดโรคลมแดดได้

         นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับเครื่องดื่มชูกำลัง ก็จะมีกาเฟอีนเช่นเดียวกัน โดยเครื่องดื่มชูกำลัง 1 ขวด จะกาเฟอีนประมาณ 50 มิลลิกรัม แต่จะมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 25-26 กรัม ผู้ขับรถทางไกล ที่ต้องการความตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่าสามารถดื่มได้ในปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่ดื่มควรเกิน 2 ขวด ต่อวัน และควรงดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนชนิดอื่นอีก เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับกาเฟอีนเกินเช่นเดียวกัน และข้อควรระวังจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน คือ จะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วง และก็เป็นสาเหตุที่ให้นอนไม่หลับ พักผ่อนน้อย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า มีอาการมึนงง หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ เสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดได้

          “ดังนั้น กรมอนามัยจึงขอแนะนำให้ผู้ขับรถทางไกล ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันเดินทาง  ระหว่างการเดินทางควรเลือกดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่นมและน้ำตาล หรือเลือกสั่งแบบหวานน้อยและไม่ดื่ม ควบกับเครื่องดื่มชูกำลัง จิบน้ำเปล่าให้บ่อยๆ จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น แก้ง่วง ป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยขับสารกาเฟอีนไม่ให้ตกค้างในร่างกาย หรือเลือกกินผลไม้สด หรือดื่มน้ำผลไม้คั้นสดที่เป็นแหล่งวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะม่วงดิบ หรือสับปะรด ก็จะช่วยลดความเหนื่อยล้าได้ ทั้งนี้ ควรกินข้าว ขนมปังขาว หรือข้าวเหนียว ในปริมาณที่อิ่มพอดี ไม่มากเกินไป เพราะจะทำให้ง่วงได้ง่าย เลี่ยงผักย่อยยาก เช่น กะหล่ำปลีดิบ ดอกกะหล่ำ บรอกโคลี คะน้า ถั่วต่างๆ และหน่อไม้ฝรั่ง และเครื่องดื่มอัดก๊าซ เช่น โซดา น้ำอัดลมหรือน้ำหวานผสมโซดา เพราะมีผลทำให้ท้องอืดเฟ้อและง่วงนอนเช่นเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

 กรมอนามัย /  12 เมษายน 2566

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH