ประชุมวิชาการกรมอนามัย ครั้งที่ 14 ดึงภาคีเครือข่ายร่วมเสวนา ‘Quarantine ปลอดภัย มั่นใจอนามัยสิ่งแวดล้อม’

  • 11 สิงหาคม 2564

               #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจัดเสวนาวิชาการ “Quarantine ปลอดภัย มั่นใจอนามัยสิ่งแวดล้อม”ในงานประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564ดึงหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสะท้อนแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นายแพทย์เกษม เวชสุธานนท์              ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย นายวีรศักดิ์ เบญอะหลี สาธารณสุขอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และ นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร

 

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าการประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 มีหลากหลายหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมามีการเสวนาหัวข้อ “Quarantine ปลอดภัย มั่นใจอนามัยสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยทำให้มีการจัดตั้งสถานแยกกัก (Quarantine) เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค แยกตัวออกจากชุมชนเพื่อสังเกตอาการของตัวเองและป้องกันคนอื่นติดเชื้อจากผู้ที่มีความเสี่ยง เพราะการแพร่เชื้อส่วนใหญ่เกิดจากผู้ป่วยที่มีอาการ แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งคนที่เข้าข่ายต้องผ่านการแยกกักตัวหลักๆ มีอยู่2 กลุ่มคือ 1.ผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และ 2.ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างรุนแรง พบผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แต่เดิมที่ผู้ติดเชื้อจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด ปัจจุบันพบปัญหาเตียงไม่เพียงพอที่จะรองรับจึงทำให้หลายพื้นที่ได้ปรับการดำเนินงานโดยให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยได้แยกกักตัว (Isolation) ดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) หรือในพื้นที่ชุมชน (Community Isolation) แทนโดยต้องจัดการด้านสถานที่และด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ

           ทางด้าน แพทย์หญิงวลัยรัตน์ ไชยฟู รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่าในระยะแรกที่มีสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ต้องจัดตั้งสถานที่กักกันซึ่งกำหนดสถานที่ไว้หลายลักษณะ อาทิ State Quarantine(SQ), Alternative Quarantine (AQ), Organizational Quarantine (OQ)เป็นต้น แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเปลี่ยนไป กรมควบคุมโรคจึงได้ปรับรูปแบบ และวิธีการเป็น“การควบคุมไว้สังเกต” ประกอบด้วย Sandbox, Bubble and Seal และลดระยะเวลาการกักกันซึ่งในระดับประเทศได้มีการจัดทำแผนบูรณาการความร่วมมือพหุภาคี พร้อมทั้งออกข้อกำหนดและคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกักกัน สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ได้ปรับข้อกำหนดมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในประเทศ รวมถึงกำหนดนโยบายกักกันโรคระดับชาติ (National Quarantine policy) เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค ที่มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพในทุกระดับ

          ทางด้าน นายแพทย์เกษม เวชสุธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กล่าวว่า การจัดตั้งสถานกักรูปแบบต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือการจัดการด้านสุขาภิบาลและการอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ พร้อมสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชนที่อยู่ในสถานกักกันและชุมชน ซึ่งกรมอนามัยได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ในการจัดทำชุดความรู้ สื่อประชาสัมพันธ์ และคู่มือวิชาการเผยแพร่ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ

           ทางด้าน นายวีรศักดิ์ เบญอะหลี สาธารณสุขอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ได้ดำเนินการจัดตั้ง Local Quarantineในระดับอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นผู้บัญชาการ และแบ่งภารกิจเป็นด้านอำนวยการ ด้านความปลอดภัย ด้านการควบคุมป้องกันโรคและรักษาพยาบาล การจัดการขยะติดเชื้อและการทำความสะอาด และอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัด

           ทางด้าน นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในจังหวัดสมุทรสาคร ภายใต้กรอบแนวคิด “SAVE-SAMUTSAKRON” ซึ่งประกอบด้วยS : Standard Precaution คือการดำเนินการตามวิธีมาตรฐาน ใช้กรอบแนวคิด Safety Work Flow A: Apply in Context คือการประยุกต์ให้เหมาะตามบริบท V: Venture by innovation คือความท้าทายในการค้นหานวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรค เช่น Good Factory Practice (GFP) และ DMHTTA และ E : Enterprise Networking คือความมั่นคงและการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการบริหารในการจัดตั้งสถานกักกันในทุกระดับ สามารถสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบที่สำคัญควรสร้าง Health Literacy สำหรับประชาชนด้วย

***

กรมอนามัย  /11สิงหาคม 2564

 

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH