กรมอนามัย แนะ นักท่องเที่ยว ‘คัด-แยก-ลด’ ป้องกันขยะล้น แหล่งท่องเที่ยวไทย

  • 10 ธันวาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนนักท่องเที่ยวร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยกันคัดแยก และลดปริมาณขยะ ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งทะเล น้ำตก ภูเขา ป้องกันขยะล้น เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลท่องเที่ยวประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงสถานที่อื่นๆ ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากนักท่องเที่ยวเอง หรือจากโรงแรมรีสอร์ท บังกะโล ตลาดน้ำ และร้านอาหาร จากข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยช่วงปี 2564 (ตุลาคม 2563 – กันยายน 2564) มีประมาณ 1,864 ตัน เป็นขยะอินทรีย์มากที่สุด จำนวน 737.58 ตัน หรือร้อยละ 39.56 ขยะทั่วไป จำนวน 722.26 ตัน หรือร้อยละ 39.33 ขยะรีไซเคิล เช่น ขวดแก้ว แก้ว และขวดพลาสติก จำนวน 291.26 หรือร้อยละ 15.62 ขยะอันตราย จำนวน 59.47 ตัน หรือร้อยละ3.19 และขยะอื่นๆ จำนวน 42.95 ตัน หรือร้อยละ 2.30 เมื่อแยกเป็นขยะพลาสติก ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 812,591 ใบ แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 208,179 ใบ และโฟมบรรจุอาหาร จำนวน 31,301 ใบ

        นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลปี 2564 พบว่า ขยะตกค้างชายฝั่ง มากที่สุดเรียงตามลำดับ คือ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ถุงพลาสติก เศษโฟม ขวดเครื่องดื่ม แก้ว ถุงก๊อปแก๊ป  ถุงอาหาร เศษพลาสติก เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ แว่นตา และสร้อยคอ กล่องอาหาร กล่องโฟม และกระป๋องเครื่องดื่ม คิดเป็นร้อยละ 73 ของขยะทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่นๆ ร้อยละ 27 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม ซึ่งส่งผลเสียต่อธรรมชาติ เช่น หาดทราย แนวปะการัง อีกทั้ง ขยะบางประเภทยังเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟม พลาสติก เมื่อสัตว์กินเข้าไป จะเกิดอันตรายและตายในที่สุด

         “กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยกันลดปริมาณขยะ โดย 1) คัดแยก และทิ้งขยะลงในถังหรือภาชนะที่จัดไว้อย่างถูกต้อง เลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทนกล่องโฟมและถุงพลาสติก หากนำสิ่งที่จะก่อให้เกิดขยะเข้าในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถุงพลาสติก กล่องโฟม ขวด กระป๋อง ควรเก็บคืนออกมาให้มากที่สุด 2) ลดปริมาณการนำเข้าขยะ โดยนำวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น จาน ชาม ช้อน แก้ว โดยนำมาเอง นอกจากนี้ ให้ระวังการก่อไฟเผาขยะ ในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษและเกิดไฟไหม้อีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 10 ธันวาคม 2565

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!