กรมอนามัย ย้ำประชาชนดูแลสุขภาพช่วงหน้าฝน ลดปัจจัยเสี่ยงโรค

  • 10 กันยายน 2563

          #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพของประชาชนในช่วงฝนตกหนัก โดยเฉพาะคนที่มีร่างกายอ่อนแอ แนะให้ดูแลสุขภาพ พร้อมเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคจากการลุยน้ำท่วมขัง และโรคไข้เลือดออก

           นายแพทย์อรรถพล  แก้วสัมฤทธิ์  รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สภาพอากาศของประเทศในช่วงนี้มีทั้งฝนตกหนัก และบางวันอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการเป็นหวัด ไอ เจ็บคอ โดยเฉพาะคนที่ร่างกายอ่อนแออาจล้มป่วยจนต้องนอนพัก แนะนำช่วงหน้าฝนนี้ควรพกร่ม เสื้อกันฝน หรือหมวก ป้องกันตัวเองไม่ให้เปียกฝน โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ ถ้าเปียกฝนก็ใช้ผ้าขนหนูซับผมให้แห้งให้ได้มากที่สุด  และควรมีเสื้อผ้าไว้ผลัดเปลี่ยนในกรณีที่จำเป็นต้องลุยฝน เพราะการอยู่ในสภาพเปียกชื้นอาจทำให้ร่างกาย  เป็นตะคริว เป็นหวัด ไอ จาม เป็นไข้ และอาจทำให้เกิดอาการปอดบวมแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยง    การลุยน้ำท่วมขัง เพราะน้ำที่ท่วมขังมีเชื้อโรคอยู่มากมายที่จะนำมาซึ่งอหิวาตกโรค โรคมือเท้าเปื่อย อีกทั้ง ควรล้างมือและเท้าให้สะอาดทุกครั้งเมื่อเข้าบ้าน หรือเมื่อจะกินอาหาร ส่วนน้ำฝนก่อนนำมาดื่มควรผ่านการต้มสุก เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับความชื้นในหน้าฝนที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องเสียอย่างรุนแรงได้ และป้องกันยุงด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในบริเวณที่มีแอ่งน้ำและตามภาชนะต่าง ๆ ให้หมด จัดแต่งสวนให้โล่งเตียน และซ่อมแซมรูรั่วของหน้าต่างมุ้งลวดให้ดี ป้องกันการโดนยุงกัดที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก

           “ทั้งนี้ ช่วงฤดูฝนจะมีทั้งสายฝนและความชื้น แต่อากาศก็ยังร้อน ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อไปไม่น้อยเช่นกัน การดื่มน้ำเยอะ ๆ จะรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และเพื่อป้องกันร่างกายสูญเสียน้ำจากการที่เหงื่อออกมากจนเกินไป เพราะโดยปกติแล้วร่างกายของเราจะสูญเสียน้ำประมาณร้อยละ 4 ของน้ำหนักร่างกาย ทั้งจากการที่เหงื่อออกและการขับปัสสาวะ อีกทั้งร่างกายจะมีภาวะขาดน้ำต่อเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำไปประมาณร้อยละ 1 ของน้ำหนักตัว ซึ่งหากเหงื่อออกมากและรู้สึกไม่อยากดื่มน้ำ ให้ค่อย ๆ จิบน้ำทีละนิดเพื่อช่วยลดปัญหาร่างกายขาดน้ำได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 10 กันยายน 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH