กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมแนวทาง Sandbox Safety Zone in School หวังนักเรียนสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ในภาคการศึกษาหน้า ภายใต้การปฏิบัติตัวตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด พร้อมย้ำช่วงนี้พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ เพื่อให้ปลอดภัยจากโควิด-19
นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการประชุมเตรียมการแนวปฏิบัติ Sandbox Safety Zone in School ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมจัดทำแนวปฏิบัติ Sandbox safety in school ด้วยการจำกัดบุคคลเข้าออกโรงเรียนอย่างชัดเจน และจะมีการคัดกรองโดยใช้วิธี Rapid Antigen Test เน้นการทำกิจกรรมในรูปแบบ Bubble and Seal ต้องปฏิบัติตามมาตรการของ Thai Stop COVID Plus มีระบบติดตามเข้มงวดของครูและบุคลากรพร้อมเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 14 วันหรือ 1 เดือนต่อภาคการศึกษา ด้านครู บุคลากรทางการศึกษามีการประเมินความเสี่ยงผ่าน Thai save Thai สม่ำเสมอ เข้าถึงการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 85 ส่วนนักเรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะพิจารณาฉีดให้ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และในกรณีโรงเรียนมีการเปิดเรียนแล้วแต่ต้องปิดเรียนเนื่องจากมีการติดเชื้อภายในโรงเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมนำร่องจำนวน 100 โรงเรียนในเดือนสิงหาคมนี้ แต่สำหรับโรงเรียนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ จะยังคงต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์เช่นเดิม รวมถึงมีการกำชับครูไม่ให้สอนต่อเนื่องจนเกินไปด้วย เพราะอาจทำให้นักเรียนประสบปัญหาออฟฟิศซินโดรมจากการนั่งเรียนนาน ๆ ได้ โดยครูอาจต้องปรับเปลี่ยนให้มีกิจกรรมระหว่างเรียนด้วย และเมื่อเด็กสามารถกลับไปเรียนได้แล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยให้เว้นห่างไว้ ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือ ถือหลัก รักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ไม่เคร่งครัดและไม่ถูกวิธี ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่ลูก
นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิด-19 ขอพ่อแม่ ผู้ปกครองให้ยึดหลักดังนี้ 1) เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที 2) สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกันหากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหารผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลากินอาหาร 3) หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และ 4) ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณีและประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูกหายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่นไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบหายใจเร็วต้องรีบพบแพทย์ทันที
“ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงพบผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่มวัย เฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี มีการระบาดอย่างเป็นวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2564 พบมีเด็กต่ำกว่า 6 ปี ติดเชื้อ จำนวน 18,775 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.3 และเสียชีวิต จำนวน 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน และข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบอัตราการเสียชีวิตในเด็ก 0-15 ปี ร้อยละ 0.02 โดยมากกว่าร้อยละ 70 ไม่มีอาการ และกลุ่มเด็กที่เสียชีวิตมักมีโรคประจำตัวร้ายแรงมากกว่าเด็กในกลุ่มเดียวกัน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 7 สิงหาคม 2564