กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมให้ประชาชนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างเท่าเทียม โดยได้รับบริการคุมกำเนิดที่มีคุณภาพ มีการวางแผนก่อนมีบุตร สามารถลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เพื่อเด็กไทยยุคใหม่เติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันประชากรโลก โดยปีนี้ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิดเรื่องสิทธิและทางเลือกคือคำตอบ “ไม่ว่าจะเป็นคนยุคเบบี้บูม หรือ Gen X วิธีการจัดการอัตราการเจริญพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อยู่ที่การให้ความสำคัญกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิของทุกคน”ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยให้ความสำคัญกับงานด้านอนามัยการเจริญพันธุ์และการคุ้มครองสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560–2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยเหลือในการมีบุตร ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง โดยส่งเสริม ให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ตามสิทธิ จัดให้มีบริการตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนมีบุตร การฝากครรภ์คุณภาพและการดูแลหลังคลอด สิทธิการลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตร สิทธิการลาของบิดาเพื่อการเลี้ยงดูบุตร เงินสงเคราะห์ เงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร การเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก มาตรการลดหย่อนภาษีคลอด ฝากครรภ์ เลี้ยงดูบุตร ส่งเสริมให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยคุณภาพแบบไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้ง การจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (Youth Friendly Health Services : YFHS) โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายในการให้บริการปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม ให้ได้รับบริการทางเลือกตั้งครรภ์ต่อ หรือบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ผ่านสายด่วนปรึกษาปัญหาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663
“ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ทุกคน ทำให้เกิด ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ มีกลุ่มผู้หญิงโทรมาขอรับบริการปรึกษาปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เฉพาะเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 4,461 คน หรือเฉลี่ย 149 คนต่อวัน โดยหลังจากได้รับคำปรึกษาทางเลือกพบว่าหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมมีความประสงค์ยุติการตั้งครรภ์เนื่องมาจากปัจจัยทั้งสุขภาพตนเอง ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม มากถึงร้อยละ 70-90 ดังนั้น วัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปีทุกสิทธิ และผู้หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไปทุกสิทธิ ในกรณีที่ยุติการตั้งครรภ์ จะสามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรด้วยการใส่ห่วงอนามัยและฝังยาคุมกำเนิดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงเข้าถึงบริการ ยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หากไปรับบริการกับหน่วยบริการเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 10 กรกฎาคม 2564