กรมอนามัย สั่งการทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่สนับสนุนการเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงสุขภาพ จากกรณีภาวะฉุกเฉินเพลิงไหม้โรงงานกระดาษ จังหวัดปทุมธานี

  • 10 มกราคม 2567

 

         #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ประเมินความเสี่ยงด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากควันพิษและฝุ่นละอองที่เกิดจากไฟไหม้โรงงานกระดาษ จังหวัดปทุมธานี โดยปฏิบัติการร่วมกับทีมระดับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำสื่อสารให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงในการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว จากการการสูดดมควันและฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ที่มาจากเหตุการณ์ดังกล่าว

          นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีไฟไหม้โรงงานกระดาษ มาวรรณปทุมเปเปอร์ ถนนบางกะดีสายใน ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานีส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง มีครัวเรือนได้รับผลกระทบ จำนวน 5 หลัง ประชาชนได้รับความเสี่ยง จำนวน 26 คน โดยผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 1 คน เบื้องต้นทางหน่วยงานในพื้นที่ได้อพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบไปแล้ว ส่วนประชาชนที่อยู่ห่างไปในระยะ 1 กิโลเมตรขึ้นไป ได้รับผลกระทบจากควันพิษและฝุ่นละออง จำนวน 40 หลังคาเรือน เบื้องต้นสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองปทุมธานี ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางกะดี 1 ลงพื้นที่ให้คำแนะนำในการปฏิบัติและป้องกันตนเองจากการสูดควันพร้อมสนับสนุนหน้ากากป้องกันควันและฝุ่นละอองให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้จะควบคุมเพลิงได้แล้วแต่ยังมีควันไฟจำนวนมากที่ส่งผลกระทบกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

          นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ได้มอบหมาย ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ทำงานร่วมกับพื้นที่ ดำเนินการดังนี้ 1) สำรวจกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางและประเมินความเสี่ยงสุขภาพจากการรับสัมผัส ควันพิษและฝุ่นละอองที่มาจากการเผาไหม้ เพื่อประสานแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ทำการรักษาและดูแลสุขภาพประชาชนต่อไป 2) กรณีหน่วยงานในพื้นที่เปิดศูนย์อพยพ หรือศูนย์พักพิงผู้ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ในพื้นที่ ให้ดำเนินการสำรวจและประเมินการจัดการด้านสุขาภิบาล เช่น การตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำอุปโภค บริโภค การประเมินคุณภาพอากาศในอาคารของศูนย์อพยพ เพื่อลดความแออัดและความเสี่ยงโรคระบาด การประเมินความพร้อม ความสะอาด และความเพียงพอของส้วม และการจัดการขยะ เป็นต้น 3) สื่อสารสร้างการรับรู้ประชาชนที่อยู่ในที่พักอาศัยและอาจได้รับผลกระทบจากควันพิษและฝุ่นละออง ให้ดูแลตนเองและกลุ่มเปราะบางในบ้าน ด้วยการหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ปิดประตู หน้าต่างเมื่อได้รับผลกระทบจากควันพิษ สวมหน้ากากป้องกันควันและฝุ่นตลอดเวลา และ 4) สนับสนุนหน้ากาก N95 เพื่อป้องกันควันพิษและฝุ่นละอองที่มาจากการไฟไหม้ให้แก่ประชาชนในชุมชนที่อาศัยใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุ และในศูนย์อพยพที่จังหวัดกำหนด เพื่อป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ

           “ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยดูแลและป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ให้อพยพออกจากพื้นที่ได้รับควันพิษ และฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ไปยังพื้นที่ที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้ทันที สังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น คันที่ผิวหนังอาการไอบ่อย ๆ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้น ไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ผื่นขึ้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและพบแพทย์ทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 10 มกราคม 2567

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH