กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ผู้ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ถูกต้องจากป้ายบอกคำแนะนำ รวมทั้งเปิดพัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำเพื่อให้อากาศถ่ายเท หากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ให้ออกจากห้องน้ำทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงปลายปี มักจะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่มีอากาศหนาวเย็น การจัดบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวบริเวณอุทยานแห่งชาติหรือรีสอร์ทต่าง ๆ บางที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส หรือเป็นระบบที่ใช้แก๊สหุงต้ม หรือ แอลพีจี เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ซึ่งการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีการดูแลป้องกันที่ดี อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ใช้สูดดมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไป ซึ่งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปจับกับเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลงจนร่างกายขาดออกซิเจน และก่อให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ รวมถึงเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันขณะอาบน้ำในห้องน้ำได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชน นักท่องเที่ยว ควรศึกษาวิธีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่น ระบบแก๊สที่ถูกต้องจากป้ายบอกคำแนะนำ รวมทั้งควรเปิดพัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ กรณีที่ไม่มีพัดลมระบายอากาศหรือไม่มีช่องระบายอากาศ ให้หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส แต่หากจำเป็นต้องใช้ ควรเปิดประตูไว้ขณะอาบน้ำเพื่อให้ระบายอากาศได้ และไม่ควรอาบน้ำเกิน 10 นาที กรณีอาบน้ำติดต่อกัน หลายคน ควรเปิดพัดลมระบายอากาศ และเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้อย่างน้อย 15 นาที เพื่อให้อากาศถ่ายเท หากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ให้ออกจากห้องน้ำทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลพิเศษ ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ที่กำลังป่วย ควรมีผู้คอยดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดขณะอาบน้ำ
“ทั้งนี้ หากพบผู้ป่วยหมดสติในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ควรรีบนำผู้ป่วยออกไป พื้นที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยให้นอนราบกับพื้น หากผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือสถานที่บริการสาธารณสุขใกล้เคียงที่สุด หรือติดต่อสายด่วน 1669” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 9 พฤศจิกายน 2564