Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัย เผย “โควิด 19” กระทบโภชนาการเด็กไทยและทุกวัย หนุนใช้แอปพลิเคชั่น FoodChoice สร้างความรู้

  • 9 ตุลาคม 2563

           #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อโภชนาการของเด็กไทยและทุกกลุ่มวัย เนื่องจากใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น กินอาหารที่ไม่หลากหลาย ล่าสุดจัด แอปพลิเคชั่น FoodChoice สร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาดและ ความปลอดภัยทางอาหารให้กับอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี

 

            นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการประชุมวิชาการโภชนาการแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 ณ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงความห่วงใยต่อ ภาวะโภชนาการของเด็กไทย เนื่องจากพบทั้งเด็กอ้วนและเด็กขาดสารอาหาร เด็กอ้วนก็พบว่ามีฟันผุ อาจเกิดจากพฤติกรรมการกินในโรงเรียน เช่น ขนมและน้ำหวาน และทรงห่วงใยต่อปัญหาโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารสำคัญ เช่น ไอโอดีน และธาตุเหล็ก เป็นต้น จึงเป็นภารกิจของกรมอนามัยที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลดน้อยลง ซึ่งจากข้อมูลภาวะโภชนาการของคนไทยพบว่า เด็ก 0-5 ปี มีภาวะเตี้ยร้อยละ 12.9 ภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.9 ส่วนเด็กวัยเรียนมีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนมากขึ้น ร้อยละ 13.1 และเตี้ยร้อยละ 9.9 ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างมากต่อโภชนาการของเด็ก เนื่องจากในช่วงเวลานั้นเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียนและไม่ได้รับอาหารกลางวันเหมือนเช่นในช่วงสถานการณ์ปกติ และ บางครอบครัวประสบปัญหาในการซื้ออาหารและใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ทำให้การบริโภคอาหารในครอบครัว มีการปรุงประกอบเมนูที่ไม่หลากหลาย หรือมีการบริโภคอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น รวมถึงมีการ สั่งอาหารออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมนูประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซา เป็นต้น
             นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์โรคโควิด 19 ยังพบอีกว่า เด็กทารก เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร นอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้ว ยังได้รับผลกระบบต่อการเข้าถึงบริการ ด้านสุขภาพและสาธารณสุข รวมถึงการเข้าถึงอาหารด้วย เช่น เด็กอายุ 0-5 ปี ไม่ได้มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี หรือไม่ได้รับบริการต่อเนื่อง โดยพบว่าความครอบคลุมของการชั่งน้ำหนัก วัดความยาว ส่วนสูง ช่วงไตรมาส 3 ในภาพรวมของประเทศพบเพียง ร้อยละ 67.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดคือ ร้อยละ 90 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่มีมาตรการควบคุมโรค ทำให้เด็กไม่ได้รับการส่งเสริมด้านโภชนาการและพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
            “ทั้งนี้ มาตรการที่กรมอนามัยนำมาใช้แก้ไขป้ญหาโภชนาการของเด็กไทยและทุกกลุ่มวัยคือการสร้างความรอบรู้ด้านโภชนาการ โดยล่าสุดได้นำแอปพลิเคชั่น FoodChoice มาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้ความรู้ด้านโภชนาการ เพื่อช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว สามารถช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของเด็กและทุกกลุ่มวัยให้ถูกหลักโภชนาการเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการด้วยการยกระดับมาตรฐานด้านความสะอาดและ ความปลอดภัยทางอาหารให้กับอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี รวมถึงสถานประกอบการประเภทซุปเปอร์มาเก็ต ร้านอาหาร ตลาด ภัตตาคาร และร้านอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่จะช่วยให้เด็กไทยได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเต็มศักยภาพและพัฒนาการสมวัยที่ดีตามมาด้วย” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 9 ตุลาคม 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH