กรมอนามัย ห่วง เด็กไม่กินอาหารเช้าเสี่ยงกระทบการเรียน – สุขภาพ แนะ 5 เมนู เติมพลังสมอง

  • 7 พฤศจิกายน 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กนักเรียนที่ไม่ได้กินอาหารเช้า เสี่ยงน้ำตาลในเลือดต่ำร่างกายอ่อนเพลีย อาจกระทบต่อการเรียนและสุขภาพได้ กรมอนามัยขอแนะนำ 5 ชุดเมนูอาหารเช้า สะดวกทำได้ง่าย เติมพลังสมอง และช่วยให้มีสมาธิในการเรียน

     นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอม บางครอบครัวพ่อแม่จำเป็นต้องรีบออกจากบ้านแต่เช้า จนทำให้ละเลยไม่มีเวลาเตรียมอาหารเช้าสำหรับลูก ซึ่งเด็กที่ไม่ได้กินอาหารเช้าเป็นประจำ จะส่งผลต่อการเรียนและสุขภาพ เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างอาหารเย็นจนถึงช่วงเช้า ร่างกายจะมีการเผาผลาญอาหารตลอดเวลา และหากร่างกายไม่ได้รับอาหารในมื้อเช้า จะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ส่งผลให้อ่อนเพลีย อาจถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมได้กรมอนามัยจึงแนะนำ 5 เมนูอาหารเช้าสำหรับเด็ก ที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และครบหมู่ คือ ชุดที่ 1 ข้าวกล้อง ฟักทองผัดไข่ และแตงโม ฟักทองอุดมด้วยวิตามินเอช่วยบำรุงสายตาของเด็กวัยเรียน ซึ่งต้องจ้องจอไวท์บอร์ดหรือกระดานนาน และลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคทางตา นอกจากนี้ ไข่แดงยังมีลูทีน ซีแซนทีน ที่ปกป้องดวงตา ป้องกันการเสื่อมของจอประสาทตา ชุดที่ 2 ข้าวสวย ต้มเลือดหมู ใส่หมูสับ ตับหมู ใบตำลึง และส้ม ธาตุเหล็กจากเลือดและตับหมู ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และควรกินคู่กับผลไม้สดที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยในการ   ดูดซึมธาตุเหล็กให้ดียิ่งขึ้น ชุดที่ 3 แซนวิชขนมปังโฮลวีททูน่าสลัดไข่ เมนูนี้ทำง่ายและสะดวกในการกินระหว่างเดินทาง ซึ่งอุดมด้วยใยอาหารจากธัญพืชและผัก ไข่มีโปรตีน ปลาทูน่าอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3  ช่วยบำรุงสมอง ชุดที่ 4 โจ๊กหมูสับใส่ไข่ กับนม โจ๊กมีคุณค่าอาหารครบถ้วน ย่อยง่ายแต่หนักท้อง ทำให้อิ่มทน จมูกข้าวอุดมด้วยวิตามินอี และแกมมาออริซานอล ซึ่งเป็นสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ได้โปรตีนทั้งจากหมูและไข่ ขิง ต้นหอม ช่วยชูรสชาติและมีใยอาหาร และชุดที่ 5 ข้าวผัดไก่ ต้มจืดไข่น้ำสาหร่าย แอปเปิล เนื้อไก่นุ่มอร่อยมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ รวมกับข้าวผัดไข่หอม ๆ เป็นแหล่งพลังงานชั้นดี ไข่น้ำ มีโปรตีน กินง่าย คล่องคอเหมาะกับมื้อเช้า สาหร่ายมีไอโอดีนซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาสติปัญญาและร่างกาย ที่สำคัญควรเตรียม นมรสจืด 1 กล่อง และผลไม้ประมาณ 1 ผล เช่น กล้วยน้ำว้า ส้ม แอปเปิล ชมพู่ เพื่อให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและครบถ้วน

     “ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชน อายุ 6 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ปี 2548 – 2564 พบว่า ประชาชนมีการบริโภคอาหารมื้อหลักครบทั้ง 3 มื้อ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่นิยมทำกินเองซึ่งเป็นผลดีกับครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เพราะเด็กวัยเรียนเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต จำเป็นต้องกินอาหารอย่างน้อย 3 มื้อ ดังนั้น เพื่อเป็นการประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากในช่วงเช้า จึงควรวางแผนการเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า เลือกเมนูที่ปรุงง่าย สามารถจัดเตรียมวัตถุดิบไว้ล่วงหน้าได้ หรืออาจปรุงอาหารพร้อมมื้อค่ำ โดยเก็บในตู้เย็นเพื่ออุ่นกินในมื้อเช้า” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 7 พฤศจิกายน  2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH