กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ผลอนามัยโพลประเด็น “ความพร้อมของคนไทย กับการเปิดโรงเรียน” พบว่ามีความพร้อม ร้อยละ 87.7 แนะหากเปิดเรียนในสถานศึกษาให้ใช้ 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสถานศึกษาเพื่อเป็นการชะลอการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เป็นวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์” ให้กับนักเรียนอายุ 12-18 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งพบมีนักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีน 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71 จากทั้งหมดกว่า 5 ล้านคน โดยแผนการฉีดวัคซีนจะเริ่มให้กับนักเรียนในสถานศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจประเด็น “ความพร้อมของคนไทย กับการเปิดเรียนโรงเรียน” ระหว่างวันที่ 26 – 30 กันยายน 2564 พบว่า ผู้ปกครองเห็นด้วยต่อการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12 – 17 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปิดเรียนร้อยละ 69 เนื่องจากอยากให้เด็กไปโรงเรียนและใช้ชีวิตปกติ และป้องกันเด็กที่มีโรคประจำตัว ส่วนผู้ปกครองที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า ยังขาดข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนในเด็ก หรือกลัวว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในอนาคต รวมถึงเรื่องของการติดเชื้อในเด็กส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรง มีการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ สำหรับความพร้อมต่อการเรียนการสอน ในสถานศึกษา ควบคู่กับการเรียนออนไลน์ในเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่ามีความพร้อมต่อการเปิดเรียน ร้อยละ 88 สำหรับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา พบว่า เห็นด้วยกับมาตการการแสดงข้อมูลผลการประเมินคัดกรองความเสี่ยง ทั้งผู้เรียน ผู้สอน และ บุคลากร ร้อยละ 87 มาตรการจำกัดจำนวนผู้เรียนห้องละไม่เกิน 25 คน ร้อยละ 85 และมาตรการการจัดการเรียนการสอนทั้งแบบออนไลน์และภายในสถานศึกษาควบคู่กันทุกวิชา ร้อยละ 82 ตามลำดับ
“ทั้งนี้ สถานศึกษาที่พร้อมเปิดการเรียนการสอน ขอให้ปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริมและ 7 มาตรการเข้มการชะลอการติดและแพร่เชื้อของโควิด-19 ดังนี้ 1) ประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID 2 Plus และรายงานการติดตามประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติเข้มข้นต่อเนื่อง 2) จัดกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมข้ามกลุ่มกัน 3) จัดระบบการให้บริการอาหารสำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ตามหลักมาตรฐานสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ 4) จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานศึกษา ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ 5) จัดทำ School isolation แผนเผชิญเหตุ และซักซ้อมเป็นระยะๆในกรณีที่โรงเรียนมีการเปิดเรียนแล้วพบการติดเชื้อภายในโรงเรียนต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 6) ควบคุมการเดินทางเข้าและออกจากโรงเรียนอย่างเข้มข้น 7) จัดให้ School pass หรือระบบติดตามเข้มงวดของนักเรียน ครูและบุคลากร ทั้งผลการเฝ้าระวังตนเองผ่าน Thai save Thai สม่ำเสมอ ตรวจคัดกรองและสุ่มตรวจโดยใช้วิธี Rapid Antigen Test รวมถึงประวัติการได้รับวัคซีน ตามเกณฑ์และบริบทของพื้นที่ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดประกาศ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า-ออกโรงเรียน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 7 ตุลาคม 2564