กรมอนามัย แนะกลุ่มเสี่ยงในศูนย์พักพิงสังเกตตนเองหลังอพยพ ย้ำรักษามาตรการป้องกันโควิด-19

  • 7 กรกฎาคม 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะกลุ่มเสี่ยง เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ หมั่นสังเกตตนเองหลังจากอพยพออกมาจากบ้าน หวั่นสารสไตรีนโมโนเมอร์กระทบต่อสุขภาพ ย้ำศูนย์พักพิง – ผู้อพยพ เข้มงวด    ในมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อลดการติดเชื้อและการแพร่ระบาด

               

               นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุระเบิดภายในโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกในซอยกิ่งแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยแรงระเบิดส่งผลให้ตัวอาคารของโรงงานได้รับความเสียหายถูกเพลิงไหม้และเกิดการเผาไหม้  สารสไตรีนโมโนเมอร์ที่เป็นของเหลว ไวไฟ เมื่อติดไฟจะให้ควันหรือก๊าซที่ระคายเคืองหรือเป็นพิษจึงห้ามอยู่ใกล้เปลวไฟและประกายไฟ จึงขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ ที่ได้รับผลกระทบและอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงบริเวณโดยรอบเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสารสไตรีนโมโนเมอร์มีผลระยะเฉียบพลันถึงระยะเรื้อรัง โดยผลเฉียบพลันมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองจมูก ลำคอ มีน้ำมูก เสียงหวีด ไอ ปอดบวม หัวใจเต้นผิดจังหวะ โคม่า และยังมีผลต่อการกดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนแรง เหนื่อย เวียนศีรษะ เดินเซ กล้ามเนื้อทำงาน ไม่ประสานกัน หากได้รับทางผิวหนังทำให้เกิดการระคายเคือง คัน และผลในระยะยาวอาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง รวมถึงอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้

               นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงหรือใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุ ควรเลี่ยงการอุปโภค บริโภคน้ำในแหล่งธรรมชาติหรือน้ำฝน และหากต้องการกลับเข้าไปดูแลหรือทำความสะอาดบ้านบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ ควรรอให้มีการตรวจวัดคุณภาพอากาศก่อน ส่วนจะอนุญาตให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตร กลับเข้าบ้านได้หรือไม่นั้น ยังต้องรอความชัดเจนจากผู้ว่าราชการจังหวัดอีกครั้ง และต้องมั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว เนื่องจากอาจจะมีสารพิษตกค้างจากสารสไตรีนที่จะลอยต่ำ และอาจขังอยู่ตามท่อน้ำหรือที่แคบต่าง ๆ ได้ จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้เกิดประกายไฟ และไม่สูบบุหรี่ สำหรับบ้านเรือนที่อยู่เกินรัศมี 5 กิโลเมตรขึ้นไป ยังต้องติดตามข่าวสารและประเมินความเสี่ยงของทิศทางลมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะพัดควันหรือสารเคมีเข้ามาสู่บ้านเรือน

               “ทั้งนี้ ศูนย์พักพิงทุกแห่งควรมีมาตรการเข้มงวดเรื่องการคัดกรองผู้เข้ามาพักอาศัยโดยการสอบถามประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการติดหรือแพร่เชื้อโควิด-19 และมาตรการสำหรับผู้ที่พักพิงยังต้องเข้มงวดเช่นกัน  โดยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำนาน 20 วินาที หรือทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนกินอาหารและหลังเข้าส้วม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน  กินอาหารที่ปรุงสุกร้อนอย่างทั่วถึง ควรแยกการกินอาหาร รักษาระยะห่างจากบุคคล ไม่จับกลุ่มพูดคุยกัน และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 7 กรกฎาคม 2564

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH