กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย กินไส้กรอกมากเกิน เสี่ยงร่างกายได้รับสารไนไตรต์ในปริมาณสูงเกินกว่าค่าปลอดภัย โดยเฉพาะไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ย้ำ ไส้กรอกยังจัดเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง หากทอด 1 ชิ้น (50 กรัม) เทียบเท่ากับน้ำมัน 3 ช้อนชา ถ้ากินเป็นจํานวนมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน และภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลัก เป็นโปรตีน ไขมัน และน้ำ แต่ยังมีส่วนประกอบของสารอื่นที่ใส่ลงไปในไส้กรอกอีก เพื่อให้ไส้กรอกมีสีสันน่ารับประทานป้องกันการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และเป็นการยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ 1) วัตถุเจือปนอาหาร ถ้าบริโภคต่อครั้งเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้ได้รับสารไนไตรต์ในปริมาณสูงเกินกว่าค่าปลอดภัยของไนไตรต์ที่กำหนดไว้ คือ วัยรุ่น 9-18 ปี ไม่ควรเกิน 3.1 มิลลิกรัม ผู้ใหญ่ ตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ไม่ควรเกิน 3.8 มิลลิกรัม ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ 2) ไขมัน น้ำมัน ซึ่งช่วยให้ไส้กรอก มีลักษณะนุ่ม ชุ่มฉ่ำ มีเนื้อสัมผัสและรสชาติดี โดยไส้กรอกจัดเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง หากทอด 1 ชิ้น เทียบเท่ากับน้ำมัน 3 ช้อนชา และถ้ากินเป็นจำนวนมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจเสี่ยงต่อโรคอ้วน ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้ และ 3) เกลือหรือโซเดียม ปริมาณเกลือที่เติมนั้นแล้วแต่ชนิดของไส้กรอก โดยส่วนใหญ่ไส้กรอกหมู 1 ชิ้น มีโซเดียม ประมาณ 300-400 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับเกลือประมาณ 1/5 ช้อนชา ตามปกติแล้วร่างกายจะได้รับโซเดียมที่มีอยู่ตามธรรมชาติของอาหารชนิดนั้น ๆ ด้วย ซึ่งใน 1 วัน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมหรือเทียบเท่ากับเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4 ช้อนชา เพราะการบริโภคโซเดียมมากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ และหลอดเลือด และโรคไตเรื้อรังได้
“ทั้งนี้ ข้อสังเกตในการเลือกซื้อไส้กรอก ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสีชมพูหรือแดงเข้มจนเกินไป ควรมีรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะต้องระบุสถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุอย่างชัดเจน ควรมีเครื่องหมายรับรองต่าง ๆ เช่น อย. มอก. เป็นต้น และหากพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย ก็ไม่ควรบริโภคอาหารนั้นเป็นประจำ ส่วนการกินไส้กรอกที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียกับสุขภาพนั้น ควรกินในปริมาณที่พอประมาณ ไม่มากหรือบ่อยเกินไป แม้ว่าร่างกายของมนุษย์มีกลไกการกำจัดสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกายได้ แต่หากมีการบริโภคอาหารประเภทเดียวกันซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ร่างกายก็อาจจะมีการสะสมพิษหรือของเสียดังกล่าวเอาไว้ วิธีที่จะช่วยให้การสะสมสารพิษหรือของเสียลดลง คือ กินให้หลากหลาย จะช่วยให้ร่างกายมีเวลากำจัดสารเหล่านั้นออกไปจากร่างกายได้ รวมทั้งควรเลี่ยงการกินไส้กรอกแบบทอดน้ำมันในอุณหภูมิสูง หรือย่างแบบไหม้เกรียม เพราะอาจก่อให้เกิดสารไนโตรซามีนที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ และเพื่อให้ดีต่อสุขภาพ หากกินไส้กรอก ควรกินควบคู่กับผักผลไม้ ที่มีเกลือแร่และวิตามินซีสูง เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะขามป้อม พุทรา สัปปะรด รวมถึงอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ผักโขม น้ำมันพืช เพื่อให้ได้ประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระด้วย ช่วยต่อต้านมะเร็งได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 4 กุมภาพันธ์ 2565