กรมอนามัย ห่วง เดินทางสงกรานต์หวั่นการ์ดตก วอนเข้ม “สวมหน้ากาก – เว้นระยะห่าง – ล้างมือ”

  • 7 เมษายน 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนเดินทางช่วงสงกรานต์ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ  หวั่นการ์ดตก เน้นย้ำต้องเข้มป้องกันตนเองจากโควิด-19 ด้วยการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ เป็นประจำ และก่อนเดินทางทุกครั้งต้องหมั่นสังเกตอาการ หากพบมีความเสี่ยงให้งดเดินทางและไปพบแพทย์

                 

                  นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่ใช้เวลานาน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้ง่ายหากไม่มีการป้องกันตนเองที่ดี ซี่งจากผลการสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน ในการป้องกัน  โรคโควิด-19 ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 4 เมษายน 2564 ผู้ตอบจำนวน 7,705 คน พบว่า ในภาพรวมประชาชนสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปที่สาธารณะร้อยละ 92.3 และสวมหน้ากากเมื่อไปขนส่งสาธารณะร้อยละ 94.5 สำหรับสถานที่ที่ประชาชนไม่สวมหน้ากากมากที่สุดได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ รองลงมา ฟิตเนส โรงยิม และ สถานที่ท่องเที่ยว ตามลำดับ ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องเดินทางขอให้สวมหน้ากากตลอดเวลา หากเป็นประเภทเครื่องบินขอให้ งดหรือเลี่ยงกินอาหารบนยานพาหนะโดยรับใส่ถุงมาแทน แต่หากเดินทางด้วยรถประจำทางอาจจะกินอาหารที่จุดพักรถแทน โดยขณะเดินทางขอให้เลี่ยงการพูดคุยโดยไม่จำเป็น และมีการ check in – check out ทุกครั้งเมื่อใช้บริการภายในอาคารสถานีขนส่ง ที่สำคัญก่อนเดินทางต้องสังเกตอาการตนเองว่ามีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส และต้องมีการคัดกรองความเสี่ยง โดยเฉพาะมีประวัติเสี่ยงหรือไม่ หรือได้ไปในสถานที่เสี่ยงซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งหากมีจะต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการ  งดทำงานหรืองดเดินทาง และไปพบแพทย์ตรวจ

                  “สำหรับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะแต่ละประเภทต้องมีมาตรการคัดกรองพนักงานและผู้โดยสารอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่จัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่ให้แออัด มีช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้า     ผ่านทางโทรศัพท์ เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัส มีการทำความสะอาดยานพาหนะ พื้นผิวสัมผัส และอุปกรณ์ภายในที่มีการใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะห้องส้วมในสถานีขนส่งผู้โดยสาร        ควรทำความสะอาดทุก 2 ชั่วโมง จัดให้มีการระบายอากาศภายในอาคารอย่างเหมาะสม เช่น เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการปฏิบัติตัวของพนักงานขับรถและพนักงานต้อนรับต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง         หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำเมื่อมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกัน หรือพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้ตลอดการเดินทาง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 6 เมษายน 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH