กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูง หวั่นเสี่ยงหลายโรค แนะหันมาดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่า คนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึงกว่า 4 เท่า และข้อมูลจากการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวันคนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 6 -14 ปี เป็นกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด เครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทยพบมีปริมาณน้ำตาลสูงมากเฉลี่ย 9 – 19 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ขณะที่ปริมาณที่เหมาะสมคือไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และฟันผุ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งการออกพระราชบัญญัติสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ภายใต้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560 กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล เครื่องดื่มผง (3 in 1) และเครื่องดื่มเข้มข้น ตามปริมาณน้ำตาล โดยข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าคนไทยมีการบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 15.3 และ 14.0 ในปี 2561 และ 2562 ตามลำดับ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 นี้ จะครบกำหนดเวลาที่ต้องปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต (ภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวาน) ตามอัตราขั้นบันได จากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 ซึ่งขณะนี้กรมสรรพสามิตจะมีการทบทวนดูว่า จะชะลอการปรับขึ้นภาษีออกไปหรือไม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการในช่วงโควิด-19 โดยจะต้องมีการนำข้อมูลต่างๆ มาพิจารณารายละเอียด เพื่อดูความเหมาะสมอีกครั้ง
“ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกินน้ำตาลของคนไทยทำได้ด้วยการเปลี่ยนจากการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล มาเป็นการดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวันเพื่อสุขภาพที่ดี แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เช่น ชานม ชาเขียว กาแฟ โกโก้ หรือ นมเย็น แนะนำสั่งสูตรหวานน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่จะได้รับในแต่ละแก้ว หรือลดขนาดเครื่องดื่มเป็นขนาดเล็กลง นอกจากนี้ขอความร่วมมือ โดยเฉพาะภาคเอกชนหรือ ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ในการคิดค้นเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้านของตนเอง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากต้องการดื่มเครื่องดื่มสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่าย เช่น น้ำอัดลม นมเปรี้ยว น้ำผลไม้ ควรอ่านฉลากก่อนซื้อ โดยเลือกแบบที่ไม่เติมน้ำตาลเป็นดีที่สุด รองลงมาคือ เติมน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หากน้ำตาลเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าหวานจัด ควรต้องหลีกเลี่ยง”อธิบดี กรมอนามัย กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 6 มีนาคม 2564