กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม เฝ้าระวัง ป้องกันความเสี่ยงสุขภาพที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคน้ำกัดเท้า โรคตาแดง และโรคอันเนื่องจากการสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ โรคระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ไฟฟ้าดูดที่อาจเกิดในช่วงน้ำท่วม และสัตว์มีพิษต่าง ๆ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชน
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายจังหวัดเนื่องจากประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากทุกภาคโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และมีฝนตกปานกลางในภาคกลาง และภาคใต้ ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมขัง ซึ่งมีประชาชนบางส่วนเร่งอพยพไปยังที่ปลอดภัยแล้ว ส่วนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์ รับฟังการแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กรมอนามัยขอให้ประชาชนดูแลสุขอนามัยของตนเองและคนในครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางหลีกเลี่ยงการลุยน้ำสกปรกที่อาจเกิดการติดเชื้อที่เท้า แต่หากจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูทกันน้ำ เมื่อขึ้นจากน้ำให้ทำความสะอาดบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายด้วยน้ำสะอาด เช็ดให้แห้งทันที และหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ นอกจากนี้ ขอให้เตรียมน้ำสะอาดให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในช่วงประสบภัย รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เสมอเพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ และโรคระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังใช้ส้วม กรณีที่มีอาหารแจกจ่ายมาในพื้นที่ที่ประสบภัยให้สังเกตลักษณะ สี กลิ่นของอาหารต้องไม่มีกลิ่นเน่าเสียหรือผิดปกติ หากพบความผิดปกติหลีกเลี่ยงการรับประทานทันที
“ทั้งนี้ กรมอนามัยได้มอบหมายให้ทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ ร่วมประเมินความเสี่ยง และสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมทั้งในชุมชนประสบภัยน้ำท่วม และพื้นที่ศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิงชั่วคราว เช่น การจัดการมูลฝอย ส้วมสะอาด การกำจัดสิ่งปฏิกูล การสุขาภิบาลอาหารและน้ำบริโภค ลดความเสี่ยงการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดเชื้ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติน้ำท่วมและเร่งสื่อสาร สร้างการรับรู้ ให้คำแนะนำการในการมีพฤติกรรมอนามัยที่ดี ดูแลสุขภาพ และป้องกันความเสี่ยงที่มาจากภัยน้ำท่วมของตนเองและคนในครอบครัวที่ประสบภัยต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
***
กรมอนามัย / 4 ตุลาคม 2566