กรมอนามัย เตือนช่วงฝนตกหนักเสี่ยงอันตรายฟ้าผ่า แนะเลี่ยงอยู่ที่โล่งแจ้ง

  • 3 ตุลาคม 2562
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงฝนตกหนักประชาชนระวังฟ้าผ่า แนะเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่ควรอยู่ใกล้ต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ขณะฝนฟ้าคะนอง
       
        นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การเกิดฝนฟ้าคะนองมักจะมาพร้อมกับการเกิดฟ้าผ่า ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สระว่ายน้ำ สนามกอล์ฟ หากเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งไม่ได้ ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ห้ามกางร่มที่มีปลายโลหะยอดแหลมในที่โล่งแจ้ง และอย่าถือวัตถุที่ชูสูงขึ้นไปจากตัว เช่น เบ็ดตกปลา ไม้กอล์ฟ รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย ในกรณีที่หลบอยู่ในรถยนต์ ห้ามจอดรถใกล้ต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ให้ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก และอย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ ควรนั่งกอดอกหรือวางมือบนตัก หากอยู่ในอาคาร ไม่ควรออกจากอาคารในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ปิดประตูและหน้าต่างทุกบาน อยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง ถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด และดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออกเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยหากเกิดฟ้าผ่าลงมาที่บ้าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับจุดที่ไฟฟ้าสามารถวิ่งเข้าสู่ตัวเราได้ เช่น สายไฟ สายอากาศ สายโทรศัพท์ บริเวณน้ำท่วมขัง
         “ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่ถูกฟ้าผ่า ให้สังเกตบริเวณที่เกิดเหตุว่ายังมีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าหรือไม่ ถ้ามีให้เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันตัวจากการถูกฟ้าผ่า โดยสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันที เนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัวซึ่งต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าซ็อต รีบโทรแจ้งสายด่วนช่วยชีวิต 1669 พร้อมให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุและอาการของผู้ป่วย จากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นจากศูนย์รับแจ้งเหตุในการดูแลผู้ป่วย ระหว่างรอรถฉุกเฉินมารับผู้ป่วย กรณีที่ผู้ถูกฟ้าผ่า หมดสติ หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ โดยสังเกตได้จากอาการ ริมฝีปากเขียว สีหน้าซีดเขียวคล้ำ ทรวงอกเคลื่อนไหวน้อยมากหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ชีพจรบริเวณคอเต้นช้าและเบามาก ให้รีบปฐมพยาบาลโดยใช้การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือซีพีอาร์ (CPR) คือ ผายปอดด้วยการให้ลมทางปากหรือที่เรียกว่า การเป่าปาก ร่วมกับการนวดหัวใจ หรือหากในบริเวณนั้นมี เครื่องช่วยชีวิตฉุกเฉิน (AED) ก็สามารถใช้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันที และรีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 3 ตุลาคม 2562
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!