กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 แบ่งการจัดการเป็น 3 ระดับ พร้อมเผยแนวโน้มปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมยังบริหารจัดการได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 มียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 63,570 คน ส่งผลให้มีมูลฝอยติดเชื้อตั้งแต่มกราคม-เมษายน 2564 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 22.9 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28.4 ตันต่อวัน โดยคาดการณ์แหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อโควิดจากโรงพยาบาล 2.85 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน โรงพยาบาลสนาม 1.82 กิโลกรัมต่อเตียงต่อวัน State Quarantine 1.32 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และจากห้องปฏิบัติการ (Lab) 0.05 กิโลกรัมต่อตัวอย่าง และได้มีข้อเสนอเพื่อเตรียมการรองรับการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 ในด้านการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ซึ่งได้แบ่งเป็น 3 ระดับสถานการณ์ คือ 1) ระดับสถานการณ์ปกติ มีหน่วยงานรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อหลัก จำนวน 14 แห่ง สามารถกำจัดได้ 273.5 ตันต่อวัน และ Onsite Treatment จำนวน 27 แห่ง กำจัดได้ 27 ตันต่อวัน 2) ระดับสถานการณ์ระดับปานกลาง จัดการใช้ทรัพยากรที่มีศักยภาพเทียบเท่าเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ โดยใช้เตาเผากากของเสีย กำจัดได้ 50 ตันต่อวัน และเตาเผาปูนซิเมนต์ และ 3) ระดับสถานการณ์รุนแรงใช้วิธีการจำกัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยการทำลายเชื้อ และเผาในเตาเผามูลฝอยทั่วไป
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อในครัวเรือนหรือชุมชน กรณีพบผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดการเกิดมูลฝอยติดเชื้อและลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด–19 นั้น หากในพื้นที่ระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงได้ให้ใช้วิธีการดังนี้
1) เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อ ให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ (สารโซเดียมไฮโปรคลอไรท์ 5,000 ppm หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์) บริเวณ ปากถุงแล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น แล้วมัดปากถุงชั้นนอกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง
2) เคลื่อนย้ายไปพักยังที่พักที่จัดไว้เฉพาะ เพื่อรอประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาเก็บขนไปกำจัด อย่างถูกต้อง
3) ภายหลังจัดการมูลฝอยแล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที สำหรับประชาชนทั่วไปหากต้องทิ้งหน้ากากอนามัย ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้เริ่มจากถอดหน้ากาก โดยจับสายรัดและถอดหน้ากากอนามัยจากด้านหลัง จากนั้นให้พับหรือม้วนหน้ากากส่วนที่สัมผัสกับใบหน้าเข้าหากัน จนมีขนาดเล็กแล้วมัดด้วยสายรัดให้แน่น โดยหากสถานที่นั้นมีจุดทิ้งหน้ากากไว้เป็นการเฉพาะ ให้ทิ้งลงในถังหรือภาชนะนั้น กรณีสถานที่นั้นไม่มีจุดสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย ให้นำหน้ากากอนามัยที่พับแล้วใส่ถุงพลาสติก จากนั้นมัดหรือปิดปากถุงให้แน่น ก่อนทิ้งลงในถังหรือภาชนะรองรับขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งหลังการทิ้ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 3 พฤษภาคม 2564