#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ตลาดนัด คุมเข้มคุณภาพอาหารต้องมั่นใจว่าเป็นวัตถุดิบที่ปลอดภัย หวั่นส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคตามมา
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการนำเสนอข่าวเฟซบุ๊กเพจ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ได้โพสต์ข้อความเตือนภัย หลังจากเจอหมึก บลูริง ที่มีพิษร้าย ถูกเสียบไม้ ขายอยู่บนแผงปลาหมึกย่างในตลาดนัดตอนเย็น จังหวัดปทุมธานี นั้น กรมอนามัยขอเน้นย้ำผู้ประกอบการ พ่อค้าแม่ค้า ในตลาดนัด ต้องใส่ใจในการคัดเลือกวัตถุดิบที่นำมาจำหน่าย ต้องมั่นใจสะอาด ปลอดภัย และไม่มีพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคตามมา ขณะเดียวกันประชาชนที่เลือกซื้ออาหาร ควรเลือกซื้อจากร้านที่ผู้ปรุงมีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี สวมหมวกและผ้ากันเปื้อน ขณะปรุงอาหารและ ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารแทนการใช้มือสัมผัสโดยตรง พ่อค้าแม่ค้า และผู้บริโภคต้องสวมหน้ากากตลอดเวลามีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แผงค้า อย่างน้อย 1-2 เมตร และหมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ
“ขณะนี้ กรมอนามัยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานตลาดนัด น่าซื้อ : ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค และมีการตรวจประเมินคุณภาพตลาดนัด โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานตลาดนัดน่าซื้อ ประกอบด้วย 3 ระดับ คือ 1) ระดับพื้นฐาน : มีทะเบียนผู้ขายของในตลาด โดยระบุประเภทสินค้าที่จำหน่าย อาหารปรุงสำเร็จต้องมีการปกปิด แผงจำหน่ายอาหารผ่านเกณฑ์การตรวจสารปนเปื้อน 4 ชนิด เป็นต้น 2) ระดับดี : จัดให้มีน้ำประปาหรือน้ำสะอาดเพียงพอ จัดให้มีห้องส้วมที่ปัสสาวะ และอ่างล้างมือที่เพียงพอและถูกสุขลักษณะ เป็นต้น และ 3) ระดับดีมาก : ทางเดินในตลาดมีความกว้าง ไม่น้อยกว่า 2 เมตร ผู้ขายของและผู้ช่วยของต้องผ่านการอบรมความรู้ด้านสุขาภิบาลอาหาร มีการควบคุมดูแลไม่ให้ เกิดเหตุรำคาญ มลพิษที่เป็นอันตรายหรือการระบาดของโรคติดต่อ โดยตลาดนัดที่เข้าร่วมการพัฒนาต้องเป็นตลาดนัดที่ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีตลาดนัดที่ได้รับผลการตรวจประเมินคุณภาพแล้ว จำนวน 4,646 แห่ง” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 2 ธันวาคม 2563