กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะหน่วยงาน ภาครัฐ-ภาคเอกชน ให้จัดการมูลฝอยถูกวิธี ลดการแพร่เชื้อโรค ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม พร้อมขอให้สถานประกอบกิจการทุกประเภท เก็บรวบรวมมูลฝอยใส่ภาชนะบรรจุสำหรับบรรจุมูลฝอยทั่วไป นำไปพักรอไว้ในที่พัก พร้อมประสานให้ราชการส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่รับผิดชอบ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาการจัดการขยะ ไม่ถูกวิธี ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ซึ่งมูลฝอยบางประเภทหากทิ้งลงในทะเลจะสะสมจนเป็นพิษ ในสิ่งแวดล้อม กระทบต่อระบบนิเวศ และ ห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เป็นต้น และเมื่อสัตว์กินเข้าไป อาจจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ในบางตัวอาจจะตายในที่สุด ในส่วนของผลกระทบต่อสุขภาพ ของประชาชน หากการจัดการมูลฝอยเป็นไปแบบไม่ถูกสุขลักษณะจะทำให้ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น จากองค์ประกอบของมูลฝอย ทั้งลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ สารเคมีอันตราย ปริมาณฝุ่นละออง เชื้อโรคต่าง ๆ เช่น ไวรัส แบคทีเรีย ที่ปนเปื้อนในมูลฝอยหรือกระบวนการขั้นตอนในการจัดการมูลฝอย ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้ 1) โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคภูมิแพ้ โรคปอดอักเสบเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ 2) โรคระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อุจจาระร่วง 3) โรคผิวหนัง ได้แก่ โรคติดเชื้อทางผิวหนัง ภูมิแพ้ทางผิวหนัง อาการคันต่างๆ 4) โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบ โรคเอดส์ และบาดทะยัก เป็นต้น
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การจัดการมูลฝอยไม่ถูกวิธียังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางน้ำ ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำในลักษณะต่าง ๆ เช่น ทำให้น้ำเน่าเสีย น้ำเป็นพิษมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพืชและสัตว์น้ำ กระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบแหล่งกำเนิดมลพิษ การหมักหมมและเน่าสลายของมูลฝอย ก่อให้เกิดก๊าซพิษและกลิ่นเหม็น หรือการเทกองมูลฝอยไว้นาน ๆ จะมีก๊าซที่เกิดจากการหมักขึ้น คือ ก๊าซมีเทนซึ่งติดไฟเกิดระเบิดขึ้นได้ จึงขอให้สถานประกอบกิจการทุกประเภทมีการคัดแยกมูลฝอยอย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่ มูลฝอยรีไซเคิล มูลฝอย ที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน และมูลฝอยทั่วไปหรือมูลฝอยที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไม่ได้ และนำไปพักรอไว้ในที่พักรวมมูลฝอยเพื่อทำการประสานให้ราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ ทำการเก็บขน และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
“ทั้งนี้ การจัดการมูลฝอยของหน่วยงานระดับท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 3 การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ตามมาตรา 20 เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสะอาด และจัดระเบียบการเก็บขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 1 พฤศจิกายน 2564