กรมอนามัย ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบกินเนื้อตุ๊กแก แนะกินเนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง แทน ได้รับประโยชน์ดีกว่า

  • 1 กรกฎาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงพฤติกรรมเลียนแบบตามยูทูบเบอร์ โชว์กินตุ๊กแกทอดกระเทียม ไม่แนะนำให้ทำตาม ชวนกินเนื้อสัตว์ประเภทหมู ไก่ ปลา กุ้ง แทน ได้โปรตีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่เสี่ยงโรค

 

 

                นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีทีมียูทูบเบอร์โชว์กินตุ๊กแกทอดกระเทียม ไม่แนะนำให้เลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว แม้ว่าตุ๊กแกจะมีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเซีย เพราะมีความเชื่อว่าเนื้อของตุ๊กแกช่วยบำรุงกำลัง และมีสรรพคุณทางยาสามารถใช้รักษาโรคบางชนิดได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้ว่า ตุ๊กแกสามารถรักษาโรคได้จริงหรือไม่ และไม่มีการยืนยัน อย่างแน่ชัดว่า การกินตุ๊กแกจะช่วยทำให้ร่างกายได้รับปริมาณของสารอาหารอื่นครบถ้วนและเพียงพอ หากต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ นอกจากรสชาติแล้ว คุณค่าทางโภชนาการกับความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงจึงแนะนำให้บริโภคเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีการเลี้ยงเพื่อใช้สำหรับการบริโภค จึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลให้การเพาะเลี้ยง ตลอดถึงการชำแหละเนื้อสัตว์ให้เป็นไปตามกฎ ระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP)

                   นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การนำตุ๊กแกมากินนั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้รับอันตรายทั้งจากการโดนตุ๊กแกที่มีฟันแหลมคมกัด หรือเสี่ยงต่อสัตว์มีพิษชนิดอื่น เนื่องจากตุ๊กแกไม่ใช่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงเพื่อใช้บริโภค จึงต้องหาจากป่า สวน หรือบริเวณบ้านเรือน อีกทั้งหากไม่มีกระบวนการชำแหละ ล้างทำความสะอาด หรือปรุงให้สุกดีพอ จะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคได้ ดังนั้น การเลือกกินอาหารโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ยังคงเน้นย้ำให้กินเนื้อหมู ไก่ ปลา กุ้ง เพราะผ่านกระบวนการเลี้ยงที่ถูกสุขลักษณะ เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหารที่ให้โปรตีนหลักแก่ร่างกาย ร่วมกับการเสริมไข่ นมจืด ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ จะได้รับโปรตีนคุณภาพดี มีสารอาหารครบถ้วน

                 “นอกจากนี้ สุขลักษณะในการปรุงประกอบอาหารนับเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์ต้องผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป สามารถกินได้อย่างปลอดภัยจากเชื้อโรคต่าง ๆ ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องมีสุขลักษณะที่ดี โดยล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อนที่จะปรุงประกอบอาหาร หลังจากใช้ห้องส้วม และไม่ควรใช้มือหยิบจับอาหารโดยตรง ควรใช้อุปกรณ์หยิบจับ ส่วนสถานที่ในการใช้ปรุงประกอบอาหารต้องสะอาด เป็นระเบียบ เนื่องจากอาหารอาจถูกปนเปื้อนได้ง่าย จากเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป จึงต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร พื้น ผนัง เพดานของห้องครัวให้สะอาดอยู่เสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 1 กรกฎาคม 2565

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!