กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตรียมชี้แจงเจ้าพนักงานท้องถิ่น ปฏิบัติตามร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. …. หลังผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการสาธารณสุข
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการที่กรมอนามัยได้เสนอร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง คำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญ จากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. …. เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับราชการส่วนท้องถิ่นใช้ควบคุมเหตุรำคาญและเสนอร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. …. ต่อคณะกรรมการสาธารณสุขในการประชุม ครั้งที่ 137-2/2565 วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการสาธารณสุขมีมติเห็นชอบร่างคำแนะนำฯ ดังกล่าว โดยหลังจากนี้ กรมอนามัยจะได้ชี้แจงให้กับท้องถิ่นเพื่อถือปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ ร่างคำแนะนำ ต่อราชการส่วนท้องถิ่น ได้กำหนดให้การควบคุมเหตุรำคาญตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีดังนี้ 1) ควบคุมการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยไม่ก่อเหตุรำคาญ จากกลิ่น หรือ ควันรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง 2) เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ เรื่อง กลิ่นหรือควันจากการสูบกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน สถานที่ที่ประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น 3) ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรณีพบว่าเรื่องร้องเรียนนั้น เข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำเพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ โดยให้ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ รวมทั้งระบุมาตรการหรือวิธีการที่ใช้ในการแก้ไข หรือปรับปรุงให้เหตุรำคาญนั้นระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด 4) ให้เจ้าพนักงานติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานที่กำหนดให้ผู้ถูกร้องเรียนต้องปฏิบัติ หากผู้ถูกร้องเรียนไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 หรือ มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ
“กรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง เรื่องยุติ ให้เจ้าพนักงานแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 1 มิถุนายน 2565