กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ การนำอาหารไหว้เจ้า อาทิ เป็ด ไก่ หมู เมื่อนำมาประกอบอาหารควรเป็นเมนูสุขภาพประเภทต้ม ยำ นึ่ง อบ ลดการ ผัด ทอด ลดหวาน มัน เค็ม ให้ได้คุณค่าทางโภชนาการ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามประเพณีของคนไทยเชื้อสายจีน จะนิยมนำของไหว้ อาทิ เป็ด ไก่ หมู หลังจากเสร็จพิธีมาปรุงประกอบอาหารบริโภคภายในครอบครัว เพื่อความ เป็นสิริมงคล ซึ่งอาหารบางชนิดสามารถเก็บไว้กินได้นานโดยไม่บูดเสีย แต่อาหารจำพวกเป็ด ไก่ จะบูดเสียง่าย จึงนิยมนำมาทำเป็นอาหารเมนูใหม่ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย เก็บไว้บริโภคได้นานขึ้น และก่อนนำมาปรุงประกอบอาหารนั้น ต้องทำความสะอาดบริเวณภายนอกให้ทั่ว โดยเฉพาะขนอ่อน หากมีหลงเหลือต้องถอนออกให้หมด เป็ด ไก่ ที่บริโภคไม่หมดในวันเดียว ให้เก็บไว้ในช่องแช่แข็ง หรือแบ่งเก็บเป็นส่วน ๆ เพื่อความสะดวกในการนำมาทำอาหารครั้งต่อไป ซึ่งเมนูเนื้อสัตว์อย่างเป็ด ไก่ หมู หากจะกินให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ควรกินร่วมกับอาหารกลุ่มข้าว-แป้ง เลือกแบบที่ไม่ขัดสี และกินร่วมกับเมนูอื่นที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงจืด ผัดผักรวม หรือกินคู่กับผักสดต่าง ๆ เมนูที่นิยม ได้แก่ ต้มพะโล้ 1 ถ้วย ให้พลังงานประมาณ 358 กิโลแคลอรี ข้าวมันไก่ 1 จาน ให้พลังงาน 558-619 กิโลแคลอรี หากเปลี่ยนจากข้าวมันเป็นข้าวสวย จะให้พลังงานลดเหลือ 505-539 กิโลแคลอรี เลี่ยงการกินหนัง เครื่องใน หรือส่วนที่ติดมัน จิ้มน้ำจิ้มแต่น้อย เพื่อลดปริมาณโซเดียม
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่ชอบกินของหวาน เช่น จันอับ ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่ ควรเลี่ยงบริโภค หรือบริโภคแต่น้อย เพราะมีส่วนผสมของแป้ง และน้ำตาลเป็นหลัก หากกินมากเกินไป พลังงาน ที่ใช้ไม่หมด จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย ทำให้มีน้ำหนักเกิน อ้วน และอาจเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ ส่วนขนมเทียน ขนมเข่ง หลังจากไหว้แล้ว ควรนำมานึ่งใหม่ก่อนบริโภค หากกินไม่หมดภายในวันเดียว ควรเก็บใส่ตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส จะเก็บรักษาไว้ได้นาน 3-5 วัน และควรกินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก เพราะเนื้อขนมมีความเหนียว เคี้ยวยาก อาจทำให้ติดคอได้ง่าย จึงควรเลือกเป็นผลไม้ที่ไหว้ เช่น ส้ม แอปเปิล กล้วย แก้วมังกรแทน จะได้รับประโยชน์จากใยอาหารที่ช่วยลดการดูดซึมไขมัน และคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังช่วยเรื่องระบบขับถ่ายอีกด้วย
“ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ ควรเลือกกินอาหารด้วยการต้ม อบ ยำ แทนการทอดหรือผัด เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน หมูสามชั้นขนมหวานต่าง ๆ รวมถึงการจิ้มน้ำจิ้ม ซีอิ๊ว และน้ำปลา เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคไต ให้เลือกกินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย ในปริมาณเหมาะสม ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อสุขภาพที่ดี ช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 1 กุมภาพันธ์ 2565