พัฒนาการสะดุด ถ้าไม่หยุด สมาร์ทโฟน

  • 6 มิถุนายน 2562

พัฒนาการสะดุด ถ้าไม่หยุด สมาร์ทโฟน

เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุด สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน  แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ขัดขวางจินตนาการ ทำให้เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง  อีกทั้งยังได้รับรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีผลทำให้ระบบการทำงานของสมองบางส่วนเสียหายได้ 

ปัจจุบันทุกๆ บ้านมักจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาเลี้ยงลูก หรือตามใจลูกปล่อยให้อยู่กับสื่อเทคโนโยยี มือถือ แทบเล็ด ดูทีวีทั้งวัน แต่ทราบหรือไม่ว่ามีผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมากหากไม่กำหนดเวลาดูให้เหมาะสม เพราะเด็กในวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรเล่นหรือดูสื่อเหล่านี้เด็ดขาด ซึ่งมีผลเสียดังนี้

  1. เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร แท็บเล็ตและทีวี เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงส่งผลให้เด็กพูดช้าและพูดไม่ชัด
  2. มีส่วนทำลายสมอง การที่เด็กๆ จ้องมองจอภาพเป็นเวลานานมีส่วนทำลายสมอง และทำให้ประสิทธิภาพเรื่องความจำถดถอยลง เด็กจะไอคิวต่ำไม่ได้มาตรฐาน
  3. ความสามารถในการสื่อสารจะลดลง หรือพัฒนาการทางสมองช้านั่นเอง เด็กที่ไม่เล่นแท็บเล็ต ไม่ดูทีวี เด็กเหล่านี้จะชอบสังเกตสิ่งรอบข้างและทำกิจกรรมกับครอบครัวดังนั้นจึงมีไอคิวสูงมากกว่าเด็กที่ชอบอยู่กับหน้าจอ
  4. ร่างกายไม่แข็งแรง เด็กจะเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว เหนื่อยง่าย เพราะนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น หรืออีกแบบคือจะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ
  5. ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ต กับความจริงไม่ได้ เด็กมักจะหงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น
  6. ขาดทักษะการสื่อสารและเข้าสังคม เหมือนที่ใครๆ พูดว่าสังคมก้มหน้านั่นแหละ แต่ในเด็กจะเป็นมากกว่าเพราะเด็กไม่รู้ว่าอะไรเหมาะสม พ่อกับแม่ต้องคอยควบคุม หากปล่อยให้อยู่หน้าจอจนเคยชินแบบนี้ เด็กจะไม่มีสังคมไม่คุยกับใครเลย
  7. ขาดสมาธิ เด็กจะไม่มีใจจดจ่อกับกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้สมาธิ หรือสมองในการแก้ปัญหา เพราะเคยเจอแต่หน้าจอที่แสดงสีสันสดใส เคลื่อนไหวได้รวดเร็วทันใจ อาจจะกลายเป็นเด็กสมาธิสั้นไปเลยก็ได้
  8. ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมออทิสติก คือดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย แม้ดูเหมือนขณะใช้สื่อ เด็กจะนิ่ง แต่เมื่อขออุปกรณ์คืน เด็กจะไม่ยอม เกิดการ ดื้อรั้น ทั้งนี้พบว่าถ้าลดการใช้สื่อผ่านหน้าจอของเด็กลง พฤติกรรมเด็กก็จะกลับมาปกติได้
  9. สายตา สายตาล้าหรืออักเสบจากการเพ่งดูจอสมาร์ทโฟนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

พัฒนาการแรกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นรากฐานของชีวิต พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัว เพราะพัฒนาการที่ดีของเด็กๆเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆที่ได้เรียนรู้ พาลูกเล่น  พาลูกเรียน พาลูกทำ กิจกรรมต่างๆร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้พัฒนาการต่างๆของเด็กๆได้ดีกว่าวิธีอื่น ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญมากๆ

แนวทางการใช้สื่อกับเด็กด้วย 3 ข้อต่อไปนี้

  1. เด็กอายุแรกเกิด – 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิดอย่างจริงจัง การเสพสื่อผ่านจอของเด็กวัยนี้ นอกจากจะไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของลูกแล้ว แม้แต่การเปิดทิ้งไว้เฉยๆ เด็กไม่ได้ดู แต่หากพ่อดูบอล แม่ดูละคร ก็ทำให้พ่อแม่ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ไปอย่างน่าเสียดาย
  2. เด็กอายุ 2-5 ปี ใช้หน้าจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยพ่อแม่ควรใช้สื่อให้เป็น เลือกโปรแกรมที่ดี และควรดูร่วมกับลูก พูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาที่ดู ตั้งคำถาม และมีกติกาที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ลูกรับสื่อผ่านจอตามลำพัง
  3. ปิดหน้าจอแล้วใช้เวลาคุณภาพ ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกับลูก เล่นกับลูก อ่านหนังสือร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้เป็นวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยได้ดีที่สุด

ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย

10 มกราคม 2562

[แม่และเด็ก] #แม่และเด็ก

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH