พัฒนาการสะดุด ถ้าไม่หยุด สมาร์ทโฟน
เด็กแรกเกิดถึง 3 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาสูงสุด สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสมองในช่วงต้น หากปล่อยให้เด็กใกล้ชิดสื่อเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ ขัดขวางจินตนาการ ทำให้เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อีกทั้งยังได้รับรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีผลทำให้ระบบการทำงานของสมองบางส่วนเสียหายได้
ปัจจุบันทุกๆ บ้านมักจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาเลี้ยงลูก หรือตามใจลูกปล่อยให้อยู่กับสื่อเทคโนโยยี มือถือ แทบเล็ด ดูทีวีทั้งวัน แต่ทราบหรือไม่ว่ามีผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างมากหากไม่กำหนดเวลาดูให้เหมาะสม เพราะเด็กในวัยต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรเล่นหรือดูสื่อเหล่านี้เด็ดขาด ซึ่งมีผลเสียดังนี้
- เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร แท็บเล็ตและทีวี เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เด็กขาดพัฒนาการด้านการสื่อสาร และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงส่งผลให้เด็กพูดช้าและพูดไม่ชัด
- มีส่วนทำลายสมอง การที่เด็กๆ จ้องมองจอภาพเป็นเวลานานมีส่วนทำลายสมอง และทำให้ประสิทธิภาพเรื่องความจำถดถอยลง เด็กจะไอคิวต่ำไม่ได้มาตรฐาน
- ความสามารถในการสื่อสารจะลดลง หรือพัฒนาการทางสมองช้านั่นเอง เด็กที่ไม่เล่นแท็บเล็ต ไม่ดูทีวี เด็กเหล่านี้จะชอบสังเกตสิ่งรอบข้างและทำกิจกรรมกับครอบครัวดังนั้นจึงมีไอคิวสูงมากกว่าเด็กที่ชอบอยู่กับหน้าจอ
- ร่างกายไม่แข็งแรง เด็กจะเคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว เหนื่อยง่าย เพราะนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น หรืออีกแบบคือจะกลายเป็นเด็กขี้เกียจ
- ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ต กับความจริงไม่ได้ เด็กมักจะหงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น
- ขาดทักษะการสื่อสารและเข้าสังคม เหมือนที่ใครๆ พูดว่าสังคมก้มหน้านั่นแหละ แต่ในเด็กจะเป็นมากกว่าเพราะเด็กไม่รู้ว่าอะไรเหมาะสม พ่อกับแม่ต้องคอยควบคุม หากปล่อยให้อยู่หน้าจอจนเคยชินแบบนี้ เด็กจะไม่มีสังคมไม่คุยกับใครเลย
- ขาดสมาธิ เด็กจะไม่มีใจจดจ่อกับกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้สมาธิ หรือสมองในการแก้ปัญหา เพราะเคยเจอแต่หน้าจอที่แสดงสีสันสดใส เคลื่อนไหวได้รวดเร็วทันใจ อาจจะกลายเป็นเด็กสมาธิสั้นไปเลยก็ได้
- ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมออทิสติก คือดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย แม้ดูเหมือนขณะใช้สื่อ เด็กจะนิ่ง แต่เมื่อขออุปกรณ์คืน เด็กจะไม่ยอม เกิดการ ดื้อรั้น ทั้งนี้พบว่าถ้าลดการใช้สื่อผ่านหน้าจอของเด็กลง พฤติกรรมเด็กก็จะกลับมาปกติได้
- สายตา สายตาล้าหรืออักเสบจากการเพ่งดูจอสมาร์ทโฟนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
พัฒนาการแรกตั้งแต่แรกเกิด – 5 ปี เป็นรากฐานของชีวิต พ่อแม่จึงควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยมือถือ แล้วหันมาใช้เวลาคุณภาพร่วมกันในครอบครัว เพราะพัฒนาการที่ดีของเด็กๆเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆที่ได้เรียนรู้ พาลูกเล่น พาลูกเรียน พาลูกทำ กิจกรรมต่างๆร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้พัฒนาการต่างๆของเด็กๆได้ดีกว่าวิธีอื่น ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญมากๆ
แนวทางการใช้สื่อกับเด็กด้วย 3 ข้อต่อไปนี้
- เด็กอายุแรกเกิด – 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการอยู่หน้าจอทุกชนิดอย่างจริงจัง การเสพสื่อผ่านจอของเด็กวัยนี้ นอกจากจะไม่มีผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของลูกแล้ว แม้แต่การเปิดทิ้งไว้เฉยๆ เด็กไม่ได้ดู แต่หากพ่อดูบอล แม่ดูละคร ก็ทำให้พ่อแม่ขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ไปอย่างน่าเสียดาย
- เด็กอายุ 2-5 ปี ใช้หน้าจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยพ่อแม่ควรใช้สื่อให้เป็น เลือกโปรแกรมที่ดี และควรดูร่วมกับลูก พูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาที่ดู ตั้งคำถาม และมีกติกาที่เหมาะสม ไม่ควรปล่อยให้ลูกรับสื่อผ่านจอตามลำพัง
- ปิดหน้าจอแล้วใช้เวลาคุณภาพ ทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยกับลูก เล่นกับลูก อ่านหนังสือร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้เป็นวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยได้ดีที่สุด
ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กรมอนามัย
10 มกราคม 2562
[แม่และเด็ก] #แม่และเด็ก