แอร์อะ…สะอาดกี่โมง
บ้านไหน…ยังไม่ล้างแอร์บ้าง
ผ่านหน้าร้อน และเข้าหน้าฝน สักพักแล้ว อย่าลืม…ล้างแอร์กันนะคะ เพื่ออากาศที่สะอาด และปอดที่สดชื่น
เพราะแอร์ที่เราเปิดใช้กันทุกวัน ทั้งกลางวัน และกลางคืน และจากการใช้งานที่หนักหน่วง จะทำให้ตัวแอร์และท่อแอร์มีความชื้น ซึ่งอาจแฝงไปด้วยเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อรา โดยเฉพาะเจ้าแบคทีเรียลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา ทำให้เมื่อหายใจเจ้าไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทำให้มีอาการ 2 แบบ คือ
แบบปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่าโรคลิเจียนแนร์
แบบลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกไข้ปอน ตีแอกหรือปอนเตียก
รูปแบบการล้างแอร์ แบ่งออกตามการใช้งานทั่วไปได้ 3 แบบ
แอร์แบบระบบรวม ควรเปิดน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นให้แห้งเมื่อไม่ได้ใช้ ทำความสะอาดขัดถูคราบไคล ตะกอน เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ ทำลายเชื้อโดยใส่คลอรีนให้มีความร้อน 10 ppm เข้าท่อที่ไปหอผึ่งเย็นให้ทั่วถึงทั้งระบบ ไม่น้อยกว่า 3-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นรักษาระดับคลอรีนให้ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2 ppm
แอร์ในห้องพัก ต้องทำความสะอาดถาดรองน้ำที่หยดจากท่อคอยส์เย็นทุก 1-2 สัปดาห์ ไม่ให้มีตะไคร่เกาะหรือใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เป็ฯอันตรายต่อสุขภาพของคน ตามมาตรฐานประกาศกรมอนามัย เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลิจิโอเนลลาในหอผึ่งเย็นของอาคารในประเทศไทย
แอร์ที่ใช้ตามบ้านเรือน เมื่อเปิดแอร์ อากาศที่ออกมาจากแอร์มีกลิ่นอับ ควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่ หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากกลิ่นไม่หายควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดแบบเต็มระบบ
ทั้งนี้ ควรติดต่อร้านแอร์ หรือช่างแอร์ที่มีความเชี่ยวชาญให้มาล้างอย่างถูกต้อง
การล้างแอร์ ควรทำเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ปอดของเราต้องตั้งคำถาม ว่า ❝แอร์อะ…สะอาดกี่โมง❞ หรือ ควรล้างแอร์ทุก 6 เดือน จะช่วยลดเชื้อโรค แถมประหยัดไฟฟ้าได้อีกด้วยนะคะ
ด้วยรักและห่วง อยากให้คนไทยสุขภาพดี จาก กรมอนามัย
อย่าลืมกดติดตาม Facebook กรมอนามัย เพื่อติดตามซีรีย์สาระสุขภาพจากเรานะคะ
#สาระสุขภาพ #แม่และเด็ก #วัยเรียนวัยรุ่น #วัยทำงาน #ผู้สูงอายุ #อนามัยสิ่งแวดล้อม