ฟันดี สุขภาพดี

  • 13 กรกฎาคม 2562

ฟันดี สุขภาพดี

ปากเป็นประตูสู่สุขภาพ ปัญหาสุขภาพช่องปากอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ร้ายแรง และส่งผลกระทบต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในประชาชนเกือบทุกช่วงวัย ดังนั้นประชาชนทุกช่วงวัยจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว เพื่อให้รู้วิธีการป้องกันได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ดังนี้

  1. การดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองให้สะอาด สม่ำเสมอ ตามหลัก 2 -2 -2 คือ
    • แปรงฟัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและก่อนนอน (การแปรงฟันก่อนนอนสำคัญมาก เพราะขณะหลับ น้ำลายจะไหลน้อยและเชื้อโรคในช่องปากจะเจริญเติบโตมากกว่าตอนกลางวัน)
    • แปรงฟันนานอย่างน้อย 2 นาที ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยเน้นบริเวณคอฟัน เพื่อให้แน่ใจว่าแปรงฟันได้สะอาดทั่วทุกซี่ ทุกด้าน
    • งดกินอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาปากสะอาดนานที่สุด
  2. การเลือกแปรงสีฟันให้เหมาะกับการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญที่ควรใส่ใจ เพราะหากเลือกผิดประเภทอาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปากตามมา โดยการเลือกแปรงสีฟัน ควรเลือก หัวแปรง มน ขนาด พอเหมาะกับปาก ขนแปรงอ่อนนุ่มและมีปลายมน ด้ามแปรงตรงจับถนัดมือ และควรเปลี่ยนแปรงสีฟัน ทุก 3-4 เดือน หรือเมื่อขนแปรงบาน เพราะประสิทธิภาพในการกำจัดเศษอาหารออก จะลดลง และทำลายเหงือกอีกด้วย
  3. การเก็บแปรงสีฟันที่ดี ควรทำแปรงสีฟันให้แห้งอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเกาะและเจริญเติบโต โดยควรเก็บแปรงสีฟัน ดังนี้
    • ล้างขนแปรงให้สะอาด สะบัดให้แห้งอยู่เสมอ
    • วางแปรงสีฟันให้หัวแปรงตั้งขึ้น ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก และหลีกเลี่ยงแสงแดด เพื่อรักษาคุณภาพของขนแปรงสีฟัน                           
    • ไม่ควรเก็บแปรงสีฟันใกล้กับชักโครก และไม่ให้แปรงสีฟันสัมผัสกับแปรงสีฟันของคนอื่น

 

  1. เพื่อให้มั่นใจว่าเราแปรงฟันสะอาด ควรมีการรตรวจความสะอาดของฟัน ดังนี้
    • วิธีที่ 1 ใช้ลิ้นดุนฟันให้ทั่วทุกซี่ ถ้ารู้สึกสาก ไม่ลื่น ให้แปรงฟัน ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
    • วิธีที่ 2 ใช้หลอดตัดเฉียงปลายมน เขี่ยบริเวณที่คอฟัน ถ้าไม่สะอาด จะเห็นคราบสีขาวติดที่ปลายหลอด
    • วิธีที่ 3 ย้อมสีฟัน ใช้สีผสมอาหารสีชมพู ( Erythrosine) 1 กรัม ผสมน้ำสะอาด 25 ซีซี และใช้ Cotton Bud ชุบสีที่ผสม ทาให้ทั่วบริเวณฟัน ทั้งด้านในและด้านนอก จะเห็นสีชมพูติดที่ฟันเฉพาะบริเวณที่มีคราบจุลินทรีย์ ถ้าแปรงสะอาดแล้ว จะไม่เห็นสีชมพูเหลือติดอยู่  

สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย

16  พฤษภาคม  2562

แหล่งที่มา :

  1. หนังสือชุดความรู้ NuPHETHS ของกรมอนามัย
  2. http://bangna.co.th/knowledge/knowledge_0004.html

#วัยเรียนวัยรุ่น

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH