แปรงฟัน ‘ก่อนนอน’ สำคัญยังไง?

  • 5 มกราคม 2564
แปรงฟัน ‘ก่อนนอน’ สำคัญยังไง?
แปรงฟัน ก่อนนอนสำคัญยังไงกับวัยเก๋า?
การแปรงฟันวันละ 2 ครั้งเป็นกิจวัตรที่ทุกคนควรทำเป็นปกติ ตามที่หมอฟันแนะนำให้แปรงตอนเช้าและก่อนนอน
โดยในตอนเช้า เราแปรงฟันเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่หมักหมมมาทั้งคืน ทำให้รู้สึกสดชื่น ไม่มีกลิ่นปาก พร้อมเริ่มวันใหม่อย่างมั่นใจ
แล้วก่อนนอนล่ะ ทำไมต้องแปรง?
เพราะตอนที่เรานอน น้ำลายจะไหลน้อยลง
ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำลายมีประโยชน์ต่อช่องปากมากมาย
รวมถึงรักษาสมดุลและชะล้างเชื้อโรคในช่องปาก
ดังนั้น ช่วงที่มีน้ำลายไหลน้อยก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุสูง
 
ถ้าเราไม่แปรงฟันก่อนนอน ก็จะมีคราบจุลินทรีย์
รวมถึงเศษอาหารตกค้างในช่องปากจำนวนมาก
เมื่อร่วมกับการที่มีน้ำลายไหลน้อยในช่วงการนอนที่ยาวนานแล้ว
ฟันก็จะมีโอกาสผุได้มาก!
 
ยิ่งใน #วัยเก๋า ที่มักมีปัญหาปากแห้ง/น้ำลายน้อย
ทั้งจากความเสื่อมของต่อมน้ำลาย รวมถึงการกินยารักษาโรคประจำตัวบางชนิด
การไม่แปรงฟันก่อนนอน ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุให้สูงขึ้นไปอีก
 
แปรงฟันก่อนนอนแปรงตอนไหน?
หลายคนเข้าใจว่า การแปรงฟันก่อนนอน คือการแปรงฟันแล้วเข้านอนทันที
ซึ่งก็ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่หมอฟันมักแนะนำ  แต่ถ้าไม่สะดวกแบบนี้หล่ะ?
 
แท้จริงแล้ว วัตถุประสงค์ของการแปรงฟันก่อนนอน
คือการกำจัดคราบจุลินทรีย์และเศษอาหารก่อนเข้านอน
ดังนั้น การแปรงฟันที่แม้จะไม่ใช่แปรงแล้วเข้านอนทันที
เช่น แปรงหลังกินอาหารเย็น หรือแปรงพร้อมอาบน้ำตอนเย็น
ก็อาจนับเป็นการแปรงฟันก่อนนอนได้
#ถ้าหลังจากนั้นไม่กินอะไรอีก ยกเว้นน้ำเปล่า จนเข้านอน!
 
ที่สำคัญ!
นอกจากจะแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์แล้ว
แต่ละครั้งก็ควรแปรงนานอย่างน้อย 2 นาที ให้ทั่วทุกซี่ทุกด้าน
และงดกินหลังแปรงอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
 
ตามหลักการแปรงฟันแบบ 2-2-2 #สูตรลับฟันดี
 
และทำความสะอาดซอกฟันวันละ 1 ครั้ง ด้วยไหมขัดฟัน
ร่วมกับแปรงซอกฟันในบริเวณซอกฟันที่มีเหงือกร่น/ฟันห่าง
ซึ่งไหมขัดฟันที่มีลักษณะเป็นเส้นขนาดเล็ก
จะไม่สามารถทำความสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ
 
พบกับ #ฟันยังดี เกร็ดความรู้เรื่องสุขภาพช่องปากและฟันสำหรับ ‘คนวัยเก๋า’
โดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
โดยสามารถติดตามฟันยังดี ได้ที่
1. LINE: @funyoungdee และ 2. กดไลค์กดติดตาม Facebook ฟันยังดี
อยากรู้อะไรเกี่ยวกับฟัน เราจัดให้ !
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH