มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) สำหรับสถานประกอบกิจการเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม

  • 25 มกราคม 2565
มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting) สำหรับสถานประกอบกิจการเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม
แนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
กรณีเปิดสถานประกอบกิจการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (COVID Free Setting)
สำหรับสถานประกอบกิจการเสริมสวย แต่งผม หรือตัดผม สำหรับบุรุษ หรือสตรี

กระทรวงสาธารณสุข

ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี เป็นสถานที่ให้บริการประชาชนในการ ตัดผม แต่งผม โกนหนวด แคะหู แต่งหน้า กันคิ้ว รวมถึงการทำเล็บในร้านเสริมสวย เช่น การทำสี การแต่งเล็บ การต่อเล็บ การเพนท์เล็บ เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ ลักษณะบริการ ระยะเวลา การใช้บริการ ตลอดจนลักษณะของอาคาร ซึ่งจะส่งผลให้มีระบบระบายอากาศที่แตกต่างกัน เช่น สถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ หรือมีอาคารขนาดใหญ่เป็นเอกเทศ โดยส่วนใหญ่ใช้ระบบปรับอากาศแบบรวม ส่วนสถานประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในอาคารพาณิชย์หรือบ้านพักอาศัย โดยส่วนใหญ่ใช้ระบบปรับอากาศแบบแยก ซึ่งมีแนวทางการควบคุมการระบายอากาศที่แตกต่างกัน รวมทั้ง สถานประกอบการที่ตั้งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นแหล่งบริการที่มีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้มีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังบุคคลอื่นได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น กรมอนามัย จึงได้จัดทำ แนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ให้บริการ และด้านผู้ใช้บริการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนต่อไป

แนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

  1. แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย
    • สถานประกอบการประเมินตนเองผ่านเกณฑ์การประเมินThai Stop COVID plus และแสดง Certificate ในบริเวณที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจน และประเมินตนเองทุก 14 วัน
    • ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วมและห้องส้วม ภายหลังมีผู้ใช้บริการทุกครั้ง หรือทุก 1-2 ชั่วโมง เช่น จุดชำระค่าบริการ เตียงสระผม เก้าอี้ตัดผม โต๊ะวางของผู้ใช้บริการ โต๊ะทำเล็บ ที่นั่งรอรับบริการ เป็นต้น
    • อุปกรณ์ตัดผม แต่งผม เช่น ผ้าเช็ดผม ผ้ายางพลาสติก ผ้าคลุมตัว ให้ใช้กับผู้ใช้บริการต่อคนเพียงครั้งเดียว และเมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทำความสะอาดทุกครั้ง สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่สัมผัสผิวหนังและสารคัดหลั่งของผู้ใช้บริการ เช่น มีดโกน ถุงมือ ให้ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
    •  อุปกรณ์แต่งหน้าและอุปกรณ์ทำเล็บ เช่น แปรงแต่งหน้า ฟองน้ำแต่งหน้า เครื่องอบเล็บเจล ตะไบเล็บ ที่ขัดเท้า ที่ครอบเล็บ ที่คั่นนิ้ว ให้ใช้กับผู้ใช้บริการต่อคนเพียงครั้งเดียว และเมื่อใช้เสร็จแล้วให้ทำความสะอาดทุกครั้งภายหลังการให้บริการแต่ละราย
    • จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการอย่างเพียงพอ และสะดวกต่อการใช้งาน
    • จัดเตรียมหน้ากากอนามัยไว้สำหรับผู้ใช้บริการ กรณีหน้ากากอนามัยของผู้ใช้บริการ เกิดการชำรุดเสียหายขณะใช้บริการ
    • กรณีมีบริการน้ำดื่มให้จัดบริการน้ำดื่มชนิดบรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท
    • จัดให้มีภาชนะรองรับมูลฝอยที่มีฝาปิดมิดชิด เพียงพอ และมีการคัดแยกประเภท ขยะประเภทของมีคม เช่น ใบมีดโกน ก่อนทิ้งให้มีการฆ่าเชื้อโรคและทิ้งในกล่องที่มีฝาปิดมิดชิด รวบรวมเพื่อรอกำจัดอย่างถูกสุขลักษณะ
  2. แนวปฏิบัติด้านการเว้นระยะห่าง
    • กำหนดจำนวนผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ โดยให้มีพื้นที่รองรับผู้ใช้บริการอย่างน้อย 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
    • งดการนั่งรอรับบริการภายในร้าน โดยจัดให้มีระบบจองคิวล่วงหน้า เพื่อลดความแออัด ของผู้ใช้บริการ
    • จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลภายในร้าน ทั้งเก้าอี้บริการ โต๊ะบริการ และจุดพักรอ อย่างน้อย 1-2 เมตร หรือจัดให้มีฉากกั้น
    • จำกัดเวลาการให้บริการเฉพาะราย ไม่เกิน 2 ชม. หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประกาศกำหนด
  3. แนวปฏิบัติด้านการระบายอากาศ จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีและเพียงพอ ดังนี้
    • จัดให้มีการระบายอากาศที่ดีและเพียงพอ กรณีใช้เครื่องปรับอากาศให้เปิดประตู หน้าต่าง ก่อนและหลังให้บริการอย่างน้อย 30 นาที และเปิดระหว่างวัน ทุก 2 ชั่วโมง เป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ให้ทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศทุก 3 เดือน หรือตามคำแนะนำผู้ผลิต
    • บริเวณห้องส้วม ควรจัดให้มีการระบายอากาศที่ดี หรือเปิดพัดลมระบายอากาศตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการ

แนวปฏิบัติด้านผู้ให้บริการ

  1. การมีภูมิคุ้มกัน
    • กรณีสถานประกอบการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือร้านที่มี ระบบปรับอากาศ ให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีหลักฐาน ประวัติการติดเชื้อมาก่อนแล้ว อยู่ในช่วง 1 – 3 เดือน
    • กรณีสถานประกอบการนอกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือร้านที่ไม่มี ระบบปรับอากาศ แนะนำให้พนักงานทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบครบตามเกณฑ์ที่กำหนด
  2. ไม่พบเชื้อโดยการคัดกรอง
    • คัดกรองความเสี่ยงพนักงานเป็นประจำทุกวัน โดยการประเมินตนเองผ่าน Thai Save Thai หรือแอพพลิเคชั่นอื่นที่ทางราชการกำหนด
    • กรณีสถานประกอบการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ หรือร้านที่มีระบบปรับอากาศ ให้จัดหา ATK สำหรับพนักงาน และตรวจคัดกรองให้พนักงานทุกคนทุกๆ 7 วัน
  3. มาตรการ UP-DMHT
    • กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ กำกับติดตาม การปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA โดยเคร่งครัด
    • งดการรวมกลุ่มขณะปฏิบัติงาน และงดการรับประทานอาหารร่วมกันของพนักงาน

แนวปฏิบัติด้านผู้รับบริการ

  1. คัดกรองความเสี่ยงผู้ใช้บริการก่อนเข้าใช้บริการ โดยการประเมินตนเองผ่าน Thai Save Thai หรือแอพพลิเคชั่นอื่นที่ทางราชการกำหนด
  2. กรณีสถานประกอบการในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือคอมมูนิตี้มอลล์ ผู้เข้ารับบริการให้แสดงผลการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือมีหลักฐานกรณีประวัติการติดเชื้อ มาก่อนแล้ว อยู่ในช่วง 1 – 3 เดือน หรือมีผลการตรวจ ATK เป็น negative ระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน
  3. ปฏิบัติตามมาตรการ UP-DMHTA โดยเคร่งครัด

31 สิงหาคม 2564

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH