กรมอนามัย แนะ หน้าร้อน เลี่ยงออกกำลังกายกลางแดดนาน เสี่ยงโรคลมร้อน

  • 15 มีนาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะในช่วงหน้าร้อนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงออกกำลังกายกลางแดด เป็นเวลานาน เสี่ยงเป็นโรคลมร้อนหรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) เปลี่ยนเป็นออกกำลังกายในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

        

           นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประชาชนที่ออกกำลังกายกลางแดดเป็นเวลานานอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคลมร้อนหรือโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยสัญญาณสำคัญของโรคนี้คือไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อย ๆ ต่างจาก การเพลียแดดทั่วไปที่จะพบมีเหงื่อออก ซึ่งแตกต่างกันโดยจะกระหายน้ำมาก อ่อนเพลีย เมื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด หายใจเร็ว และอาจรุนแรงถึงขั้นเพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ตับและไตวาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะทำให้ช็อก หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้งควรลดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง ในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดโดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00–15.00 น. สวมชุดออกกำลังกายที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด และหากมีอาการที่เข้าข่าย ให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิดทันที                                 

          นายแพทย์มณเฑียร กล่าวต่อไปว่า ควรหลีกเลี่ยงการต้องอยู่หรือออกกำลังกายท่ามกลางสภาพอากาศร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรจิบน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ ซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ และควรออกกำลังกายในที่ร่ม เช่น โรงยิม หรือเลือกออกกำลังกายในช่วงเช้าและช่วงเย็น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด นอกจากนี้ไม่ควรให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคอ้วนออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป โดยเลือกทำกิจกรรมในอาคาร หรือที่ร่ม แต่หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ทำได้    ในระยะเวลาและความหนักไม่มากเกินไป เช่น การทำความสะอาดบริเวณนอกบ้าน การเดินไปซื้อของระยะทางสั้น ๆ การใช้อุปกรณ์กันแดด ร่ม หมวก เป็นต้น

          “ทั้งนี้ ในกรณีที่พบเห็นผู้ที่เป็นโรคลมร้อน ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการนำตัวเข้ามาในที่ร่ม จากนั้นให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง คลายเสื้อผ้าให้หลวม แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัวและศีรษะ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด หากมีสติให้จิบน้ำ หากหมดสติให้ประเมินตามกระบวนการ ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) แจ้ง 1669 และนำส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 15 มีนาคม 2565 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH