กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงคนขับรถทางไกล ใช้เวลานานจนเกิดอาการเมื่อยล้า แนะ 10 ท่า ยืดเหยียดผ่อนคลาย บริหารใบหน้าบรรเทาอาการง่วงนอน ลดเสี่ยงอุบัติเหตุ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด โดยรถยนต์ส่วนตัว ก่อนขับรถทางไกล ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วง สวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ และสิ่งสำคัญควรตรวจสภาพ ของรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน ปรับการนั่งขับรถให้ถูกต้อง โดยเลื่อนเบาะที่นั่งให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับตนเอง หลังพิงพนักพอดี ไม่นั่งห่างหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไปเพราะจะทำให้หลังโค้ง พิงพนักไม่ได้หรือพิงได้แต่เวลาขับต้องเหยียดแขนและเข่ามากขึ้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากปวดหลังเป็นเวลานานและ ไม่มีการดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เสี่ยงปวดหลังถาวรได้และควรคาดเข็มนัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย ขณะขับรถทั้งผู้ขับขี่แลผู้โดยสาร
“ทั้งนี้ ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับรถยนต์สามารถลดอาการเมื่อยล้าได้แม้อยู่ในรถ ขณะที่รถหยุดนิ่ง หรือในช่วงรถติดได้ด้วยการบริหารร่างกายง่าย ๆ เช่น ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ ให้เอียงคอลงมาด้านข้าง เข้าหาหัวไหล่ให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกตึง ทำค้างไว้ประมาณ 15 วินาที จากนั้นสลับปฏิบัติด้านตรงข้าม ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอด้านหลังให้ค่อย ๆ ก้มศีรษะเข้าหาลำตัวจนรู้สึกตึงบริเวณลำคอด้านหลัง ลำตัวตรง ค้างไว้ประมาณ 15 วินาที ท่ายืดไหล่ ทำได้โดยนั่งยืดตัว แล้วบีบไหล่ยกขึ้นไปหาใบหู ค้างไว้ นับ 1-2 แล้วเอาลง จากนั้นทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าบิดตัว ทำได้โดยนั่งยืดตัวตรงขึ้น มือจับที่ขอบเบาะแล้วบิดตัวไปข้างใดข้างหนึ่งค้างไว้ นับ 1-5 จากนั้นสลับ ปฏิบัติอีกข้างทำประมาณ 5 ครั้ง ก็จะช่วยให้รู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ผู้ขับรถทางไกล ควรจอดรถพักเป็นระยะๆ เพื่อผ่อนคลายอาการเมื่อยล้า ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้กับตนเอง ด้วยวิธีการง่าย ๆ โดยเริ่มจาก ท่าที่ 1 ยืนตรง มือท้าวเอว ยื่นคางไปด้านหน้าจนใต้คางตึง ทำค้างไว้ 15 วินาที กลับสู่ท่าเริ่มต้นศีรษะตรง แล้วก้มศีรษะจนตึงบนบริเวณคอด้านหลังค้างไว้ 15 วินาที กลับสู่ท่าเดิม (ห้ามกลั้นหายใจขณะบริหารกาย) ท่าที่ 2 ยืนตัวตรง วางมือซ้ายบนศีรษะ แล้วเอียงคอมาด้านขวา จนรู้สึกด้านซ้ายตึง ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม ท่าที่ 3 ยืนตรงแยกเท้าเท่าหัวไหล่มือวางที่ขอบรถ และก้มตัวลงจนรู้สึกตึงที่ไหล่และหลังส่วนบน แขนตึงค้างไว้ 15 วินาที ท่าที่ 4 ยืนตรง ยกแขนขวาพับลงๆไว้กลางหลัง มือซ้ายจับศอกขวาดึงมาทางด้านซ้ายจนตึงต้นแขนด้านหลัง ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม ท่าที่ 5 ยืนตรง ยกแขนขวาไปด้านหน้าระดับไหล่ ปลายนิ้วตั้งขึ้น ใช้มือซ้ายวางที่ฝ่ามือขวา แล้วดันเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงปลายแขนด้านใน ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม ท่าที่ 6 ยีนตรงยกแขนขวาไปด้านหน้าระดับไหล่ คว่ำมือลง ใช้มือซ้ายวางที่หลังมือขวา แล้วดันเข้าหาตัวจนรู้สึกตึงปลายแขนด้านใน ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม ท่าที่ 7 ยืนตรงประสานมือขึ้นเหนือศีรษะ แขนตรงแล้วเอียงตัวไปด้านซ้ายจนรู้สึกลำตัวด้านขวาตึงค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม ท่าที่ 8 ยืนตรงเท้าห่างกันเท่าหัวไหล่ ค่อยๆก้มตัวลง จนรู้สึกตึงที่หลัง หรือใช้มือแตะที่ปลายเท้าค้างไว้ 15 วินาที ท่าที่ 9 ยืนตรง มือซ้ายจับขอบประตูรถยนต์พับขาขวาขึ้น มือขวาจับปลายเท้าขวาแล้วดึงขึ้นจนตึงต้นขาด้านหน้า ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม และท่าที่ 10 ยืนตรง มือจับท้ายรถยนต์ ก้าวเท้าซ้ายไปด้านหน้า แล้วย่อเข่าซ้ายไปข้างหน้า จนน่องที่ขาขวาตึง ค้างไว้ 15 วินาที ทำซ้ำใหม่ด้านตรงข้ามเหมือนเดิม
***
กรมอนามัย / 24 ธันวาคม 2564