Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัย ห่วงนักท่องเที่ยวสายลุยป่าเขา ระวังอันตรายจากแมลง สัตว์มีพิษ

  • 5 พฤศจิกายน 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินป่าเขา หรือกางเต็นท์พักแรมตามวนอุทยานต่าง ๆ ควรระมัดระวังแมลงและสัตว์มีพิษต่าง ๆ พร้อมแนะควรรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อมบริเวณรอบที่พัก คัดแยกและทิ้งขยะหรือเศษอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหาร หรือแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์มีพิษ

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวมักจะมีนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินป่าเขา หรือกางเต็นท์พักแรมตามวนอุทยานต่าง ๆ สิ่งที่ควรต้องให้ความระมัดระวังคือ แมลงและสัตว์มีพิษต่าง ๆ เช่น งู แมงป่องบางชนิด อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงกับชีวิตได้ โดยเฉพาะงูมักอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความรกและชื้นแฉะ ในกรณีถูกงูกัด การปฐมพยาบาลควรล้างแผลด้วยน้ำสะอาดห้ามกรีดหรือดูดบริเวณที่ถูกกัด ไม่ควรขันชะเนาะ ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และจดจำลักษณะงูที่กัดเพื่อแจ้งแพทย์ให้การรักษาที่ถูกต้อง ส่วนสัตว์มีพิษอีกชนิดที่ต้องระมัดระวัง คือ แมงป่อง หากถูกแมงป่องต่อยอาการส่วนใหญ่ คือ ปวดบวมบริเวณที่ถูกต่อยในวันแรกและมักหายได้เอง สำหรับรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีหัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก ให้ปฐมพยาบาล โดยทำความสะอาดบริเวณที่ถูกกัดด้วยน้ำสะอาด และประคบเย็น ครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวมเฉพาะที่ได้เช่นเดียวกัน

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ให้ระวังแมลงมีพิษต่าง ๆ ด้วย เช่น แมลงก้นกระดกที่มีลำตัวเป็นปล้อง ๆ มีสีดำสลับสีแดง หรือสีแดงอมส้ม ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป หากสัมผัสโดนตัว พิษของมันจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน มีอาการคัน ผิวไหม้ ผื่นแดง และเป็นตุ่มน้ำ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ จุ่มหรือแช่บริเวณที่โดนแมลงในน้ำเย็น ประมาณ 5-10 นาที สลับกับการเป่าให้แห้ง หากมีอาการอักเสบรุนแรงให้รีบพบแพทย์ทันที ส่วนสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กอีกชนิดที่ควรระวัง คือ  กิ้งกือบางชนิดสามารถปล่อยสารพิษจากลำตัว หากสัมผัสจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบ ปวดร้อน วิธีปฐมพยาบาล คือ ให้ล้างด้วยน้ำมาก ๆ และทายาฆ่าเชื้อโรค

           “ทั้งนี้ ประชาชนควรรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อมบริเวณรอบที่พักหรือเต๊นท์ จัดเก็บสิ่งของและเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้มีมุมอับชื้น หรือเป็นแหล่งหลบซ่อนอาศัยของแมลงและสัตว์มีพิษ ควรคัดแยกและทิ้งขยะหรือเศษอาหารในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ไม่กองทิ้งไว้ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารหรือ    แหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์มีพิษ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

         

***

กรมอนามัย / 5 พฤศจิกายน 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH