Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัยแนะ 4 ขั้นตอน จัดการน้ำสะอาดในโรงเรียน พร้อมรับเปิดเทอม

  • 31 ตุลาคม 2564

           #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ 4 ขั้นตอน ได้แก่ สำรวจ ซ่อมแซม ทำความสะอาด และตรวจสอบ ในการจัดการน้ำสะอาดในโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อมเปิดเทอมสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยสำหรับนักเรียน ครูหรือเจ้าหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

           นายแพทย์สุวรรณชัยวัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์มาตลอดระยะภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564ทำให้อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ได้ใช้งานทั้งอุปกรณ์การเรียน การสอน อาคารสถานที่ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำบริโภคในโรงเรียน เช่น เครื่องกรองน้ำ ตู้น้ำดื่ม ภาชนะบรรจุน้ำดื่มที่ไม่ได้ใช้งานหรือปล่อยทิ้งไว้ขาดการดูแลรักษาอาจจะทำให้เกิดความเสียหาย แตกรั่ว ชำรุด เสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจในความสะอาดของน้ำบริโภคสำหรับนักเรียนในช่วงเวลาเปิดภาคเรียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ โรงเรียนควรเตรียมพร้อมในการจัดการน้ำบริโภคเพื่อรองรับการเปิดเทอมซึ่งกรมอนามัยมีคำแนะนำ 4 ขั้นตอนในการจัดการน้ำสะอาดในโรงเรียนเพื่อเตรียมพร้อมเปิดเทอมดังนี้ 1) สำรวจสำรวจระบบจัดการน้ำดื่มในโรงเรียน ได้แก่ ระบบท่อ ก๊อกน้ำถังสำรองน้ำตู้กดน้ำดื่มเครื่องกรองน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำดื่มหรืออุปกรณ์สำหรับการดื่มน้ำ รวมไปถึงระบบไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมสิ่งผิดปกติ ความเสียหายการเสื่อมสภาพหรือการชำรุดของระบบการจัดการน้ำดื่มในโรงเรียน นำมาวางแผนซ่อมแซม แก้ไข ปรับปรุงหรือบำรุงรักษาต่อไป 2) ซ่อมแซมดำเนินการซ่อมแซม แก้ไข ปรับปรุง จุดที่มีการรั่วซึม แตกหัก ชำรุดอุดตัน เช่น ท่อน้ำ ตู้น้ำดื่ม ถังบรรจุน้ำ เปลี่ยนไส้กรองหรือสารกรองในเครื่องกรองน้ำที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้วเปลี่ยนสายไฟฟ้าหรือติดตั้งสายดินของตู้น้ำดื่ม เพื่อให้พร้อมใช้งานทันทีตอนเปิดเรียน

            นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ข้อถัดมาคือ 3) ทำความสะอาดถังพักน้ำ ภาชนะบรรจุน้ำดื่ม ตู้กดน้ำดื่มแก้วน้ำ ก๊อกดื่มน้ำ ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดภาชนะและแช่น้ำผสมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคโดยใช้คลอรีนผง60 เปอร์เซ็นต์ประมาณ 1 ช้อนชาหรือ 4-5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งจะได้ความเข้มข้นของคลอรีนประมาณ 100 ppmโดยแช่นาน 30 นาที และเช็ดทำความสะอาดภายนอกตู้กดน้ำดื่ม ภาชนะบรรจุน้ำดื่มขนาดใหญ่ด้วยน้ำผสมคลอรีนดังกล่าว ส่วนเครื่องกรองน้ำต้องทำการล้างย้อน (Backwash) เพื่อทำความสะอาดไส้กรองหรือสารกรอง และ 4) ตรวจสอบตรวจสอบความพร้อมการทำงานของระบบจัดการน้ำสะอาดอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าทั้งอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆมีความพร้อมและเพียงพอ นอกจากนั้นสามารถประเมินคุณภาพน้ำด้วยชุดทดสอบอย่างง่ายทั้งการตรวจหาคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปา ด้วยชุด อ 31 หรือทดสอบการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรียจากตู้น้ำดื่ม ถัง คลูเลอร์น้ำดื่ม ด้วยชุด อ 11

          “ทั้งนี้ บุคลากรที่ดูแลระบบจัดการน้ำดื่มในโรงเรียนควรมีการประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” หรือตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วยวิธีการที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในเรื่องน้ำบริโภคของนักเรียน ครูหรือเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนในช่วงเปิดเทอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย /31 ตุลาคม 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!