#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ อาจมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังครอบครัวและผู้คนในชุมชนได้ แนะให้สังเกตอาการและคัดกรองความเสี่ยงตนเอง หากพบมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ หรือมีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยง ให้งดเดินทาง และไปพบแพทย์ตรวจพร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการอยู่กับบ้าน 14 วัน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประชาชนที่เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดในช่วงสงกรานต์ อาจมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังครอบครัวและผู้คนในชุมชนได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในบ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีการติดเชื้อจากกลุ่มผู้ที่ออกไปนอกบ้านและนำเชื้อกลับมาสู่คนในบ้าน และมีโอกาสที่จะเสียชีวิตสูงกว่าวัยอื่น ขณะเดียวกันตัวผู้สูงอายุเองควรงดออกจากบ้าน ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานและหลังเข้าห้องน้ำ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า กินร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว แยกสำรับอาหาร แยกของใช้จำเป็น ควรเว้นระยะห่างจากบุตรหลานและผู้อื่น 1-2 เมตร ดังนั้น จึงขอให้ลูกหลานที่วางแผนเดินทางกลับบ้านให้งดการเดินทางหากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เหนื่อยหอบ หรือมีอาการที่พบเพิ่ม คือ ตาแดง มีผื่นแดงตามตัว น้ำมูก น้ำตาไหล และสำหรับผู้ที่ได้เดินทางกลับแล้วนั้น ขอให้มีการคัดกรองสุขภาพและความเสี่ยงตนเอง โดยมีหลักการประเมินว่า ไม่เข้าไปในสถานที่เสี่ยง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงในที่คนแออัดเช่นไม่สวมหน้ากาก ไม่ไปใกล้คนป่วยหรือเสี่ยงเป็นโควิด หากไม่แน่ใจในการประเมินตัวเองสามารถประเมินผ่านแอปพลิเคชันใด ๆ ก็ได้แล้วแต่ความสะดวก โดยกรมอนามัยแนะนำแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” เป็นเครื่องมือที่มีหลักเกณฑ์รายละเอียดข้อมูลและความรู้ในปัจจุบัน ครบถ้วนเหมาะอย่างยิ่งในการประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อเพื่อปกป้องคนในครอบครัวและเพื่อนในที่ทำงานไม่ให้เป็นโควิด ซึ่งหากมีหรือได้ไปในสถานที่เสี่ยงที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ จะต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการ งดทำงานหรืองดเดินทางไปในที่สาธารณะ และไปพบแพทย์ตรวจ พร้อมทั้งเฝ้าระวังอาการอยู่กับบ้าน 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเฝ้าระวังอาการ 14 วันนั้น ขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้ 1)วัดอุณหภูมิร่างกายทุกวัน หากพบว่ามีไข้ อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ เหนื่อยหอบ ให้ไปพบแพทย์ตรวจ โดยแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือแจ้ง 1422 เพื่อประสานการรับตัว 2) ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 20 วินาที หรือเจลแอลกอฮอล์ที่ ปิดปากปิดจมูก ด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้งที่ไอ จาม 3) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ และควรอยู่ห่างจากคนอื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร หรือใช้เวลาพบปะผู้อื่นให้สั้นที่สุด 4) ให้แยกห้องนอน ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ โทรศัพท์ รวมทั้งให้แยกทำความสะอาด 5) จัดให้มีน้ำดื่มแยกเฉพาะ แยกการกินอาหาร ไม่กินร่วมกับคนในครอบครัว และเก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งหรือตากแดดให้แห้ง
“ข้อปฏิบัติถัดมาคือ 6) ให้แยกขยะเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป เช่น ถุงพลาสติก ภาชนะใส่อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ขวด เป็นต้น และแยกขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ซึ่งในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อโดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น และทำลายเชื้อโดยราดด้วยน้ำยาฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป 7) ให้แยกการใช้ห้องส้วมกับคนในครอบครัว หากแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องส้วมเป็นคนสุดท้าย และให้ทำความสะอาดทันทีหลังใช้ส้วม ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค 8) กรณีจำเป็นต้องพบปะผู้อื่น ให้ใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วให้ทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยสบู่และน้ำทันที และ 9) งดกิจกรรมนอกบ้าน งดการสังสรรค์ งดไปในที่ชุมชน งดใช้ขนส่งสาธารณะ และติดตามสถานการณ์ข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ขอแนะนำ “ไทยประเมินเซฟไทย ครอบครัวปลอดภัย ที่ทำงานไร้โควิด” เป็นเครื่องมือประชาชนดูแลกันเอง ไม่มีการนำไปใช้ติดตามจากภาครัฐ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 11 เมษายน 2564