คู่มือภาคี

แนวทางการดำเนินงานระบบเฝ้าระวังมารดาตาย สำหรับประเทศไทย

  • 16 ตุลาคม 2563
รายละเอียด
ประเภทไฟล์.pdf
ขนาดไฟล์3.29 MB
ตัวอย่าง
แนวทางการดำเนินงานระบบเฝ้าระวังมารดาตาย สำหรับประเทศไทย
หมายเหตุ: ถ้าหากต้องการดาวน์โหลดไฟล์ต้นฉบับ กรุณากรอกข้อมูลด้านล่างและกดปุ่มดาวน์โหลดไฟล์
รายละเอียด

เป้าหมายหลักของการเฝ้าระวังมารดาตาย (Maternal Death Surveillance and Response,MDSR) คือ การลดการตายมารดาจากเหตุที่ป้องกันได้ ผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบใช้กระบวนการเรียนรู้จากการทบทวนหาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการตายมารดาที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (Modifiable factors) นำมาพัฒนาให้เกิดข้อแนะนำ (Recommendation) เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของระบบบริการอย่างต่อเนื่อง การทบทวนสาเหตุการตายมารดาอย่างถูกต้อง จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการลดการตายมารดา ระบบรายงานการตายมารดาของประเทศไทย เริ่มมีการพัฒนาขึ้นเป็นระบบที่ชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 มีการรายงานกรณีมารดาตายเพิ่มขึ้น พร้อมกับความพยายามที่จะลดการตายมารดา โดยการพัฒนาคุณภาพระบบบริการและพัฒนาศักยภาพบุคลากร ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กระดับจังหวัดและระดับเขต กรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการเฝ้าระวังมารดาตาย จากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่าข้อมูลจากการรายงานมารดาตายนั้น ได้มาเพียงปริมาณ แต่ยังขาดคุณภาพ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคมากมายในการทำงานเพื่อหาสาเหตุการตาย การระบุการตาย และการจัดเก็บข้อมูลยังไม่เป็นระบบไม่ได้รับความร่วมมือในการแจ้งเหตุและให้ข้อมูลเนื่องจากกลัวการถูกฟ้องร้อง และอาจเป็นคดีความการวิเคราะห์ข้อมูล เกิดอคติ (Bias) ทำให้ข้อมูลสาเหตุการตายที่ได้ มีความบิดเบือนไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแนวทางการทบทวนและวิเคราะห์สาเหตุการตายมารดา (Maternal Death Surveillance and Response Technical Guidance 2013) เพื่อเป็นแนวทางให้แต่ละประเทศนำไปใช้ในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังมารดาตาย โดยเน้นย้ำว่า การทบทวนกรณีมารดาตายนั้นมิได้มุ่งหาข้อผิดพลาดของบุคคล กลุ่มงาน หรือสถานพยาบาลแต่อย่างใด แต่เป็นการค้นหาปัจจัยที่ส่งผลให้มารดาตาย ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ แล้วนำเอาปัจจัยเหล่านั้นมาปรับเปลี่ยนแก้ไข กำหนดเป็นข้อแนะนำพร้อมทั้งกำกับติดตามปฏิบัติตามข้อแนะนำนั้น ควรมีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ สำหรับในแหล่งที่ไม่มีกรณีมารดาตาย ควรพิจารณาทำการทบทวนกรณีมารดาเกือบพลาด (Near-missed) เพื่อการพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

ประเทศไทยยังไม่เคยมีคู่มือที่เป็นแนวทางในการทบทวนสาเหตุการตายมารดาที่เป็นมาตรฐานชาติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กรมอนามัยจึงได้พัฒนาแนวทางการดำเนินงานระบบเฝ้าระวังมารดาตายสำหรับประเทศไทย (Thailand Maternal Death Surveillance and Response Guideline) ขึ้น โดยยึดหลักตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาแม่และเด็กและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาและลดการตายมารดาของประเทศไทย

กรอกข้อมูล เพื่อดาวน์โหลด

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH