“ รสเค็ม ” มาจากเกลือหรือที่รู้จักกันดีคือโซเดียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
โดยโซเดียม จะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาระดับความดันโลหิตรวมทั้งช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ(รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย)
“ โซเดียม ” มีในอาหารเกือบทุกชนิด มีในอาหารธรรมชาติ เช่น ข้าว แป้ง หมู ปลา ไข่ ผัก ผลไม้ ยังมีอยู่ในเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม ผงชูรสในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง อาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารประเภทขนมขบเคี้ยว
ดังนั้นในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้ปรุงอาหารเพิ่มเราก็ได้รับโซเดียมจากอาหารธรรมชาติประมาณ 600 – 800 มิลลิกรัม โดยในหนึ่งวันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบกับเกลือ 1 ช้อนชา การกินอาหารเค็มมากเกินไปมีผลต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองแตก ไตวายได้
เทคนิคง่ายๆ ในการลดการกินเค็ม
- ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง เพราะการปรุงอาหารอีกเป็นการเพิ่มโซเดียมโดยไม่จำเป็น
- ลดการเติมเครื่องปรุงรสในอาหารและไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส เกลือ วางบนโต๊ะอาหาร
- ลดการกินอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน ผักดอง ผลไม้ดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม
- ลดการกินอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมบริโภคแช่แข็ง
- ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของอาหารที่มีน้ำจิ้ม เช่น สุกี้ หมูกระทะ หอยทอด
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารจานด่วน เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง
- ลดการกินขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม เช่น ข้าวเกรียบ มันฝรั่งอบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ
- อ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
กลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนากำลังคนฯ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก
4 มีนาคม 2562