กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ กินอึ่งชอต ควรปรุงร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง พร้อมแนะก่อนทำเมนูอาหารต้องล้างทำความสะอาดอึ่งอ่างทั้งตัว รวมทั้งเครื่องในให้สะอาด เพื่อป้องกันไข่พยาธิหรือหนอนพยาธิเข้าสู่ร่างกาย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกระแสการกินอึ่งชอต โดยการนำอึ่งอ่างที่ผ่านการปรุงสุกนำมาใส่แก้วชอต จัดวางในลักษณะขาชี้ฟ้า หัวทิ่มแก้ว จุ่มอยู่ในน้ำจิ้มนั้น การกินในลักษณะนี้ ผู้บริโภคควรคำนึงถึงความสะอาด และต้องปรุงให้สุกร้อนอย่างทั่วถึง เพราะอึ่งอ่าง เป็นสัตว์สี่เท้าสะเทินนํ้าสะเทินบก ที่มักพบการปนเปื้อนของไข่พยาธิหรือหนอนพยาธิในทางเดินอาหาร การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ควรหลีกเลี่ยงการกินอึ่งแบบสุก ๆ ดิบ ๆ หรือหากปรุงประกอบอาหารเอง ต้องล้างทำความสะอาดอึ่งอ่างทั้งตัว รวมทั้งควรนำเครื่องในออกมาล้างทำความสะอาด โดยนำมาเคล้าเกลือ เพื่อล้างเมือกหรือยางที่ตัวออก จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง จะช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับตัวอึ่งอ่างได้ และควรปรุงด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 2 นาทีขึ้นไป จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหนอนพยาธิ และอาหารเป็นพิษได้
“ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลของอึ่งอ่างในระบบฐานข้อมูลโภชนาการของไทย แต่อึ่งอ่างจัดเป็นแหล่งโปรตีนของเนื้อสัตว์พื้นบ้านอาหารพื้นถิ่น เพราะกินแมลงชนิดต่างๆ จำพวกปลวก แมงเม่า และมด เป็นอาหารหลัก คุณค่าทางโภชนาการจึงใกล้เคียงกับกบ ซึ่งเป็นสัตว์สี่เท้าสะเทินนํ้าสะเทินบกในวงศ์ใกล้กัน อึ่งอ่างให้พลังงาน และไขมันต่ำ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น มีปริมาณโปรตีนระดับปานกลางการกินอึ่งอ่างให้ได้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีนั้น ควรเพิ่มคุณค่าจากผักพื้นบ้านต่าง ๆ เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน เช่น ต้มยำ แกงอ่อม ต้มมะขาม หรือการทำเมนูอึ่งย่างหรือทอด ที่นิยมกินทั้งกระดูก อาจทำให้ได้แร่ธาตุเพิ่มด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 5 พฤษภาคม 2565