เผยเศษอาหารและมูลสัตว์แหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน แนะ ทำความสะอาด ตัดตอนพาหะนำโรค

  • 18 ตุลาคม 2561
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชนควรทำความสะอาดบ้านเรือน อาคาร สถานที่ต่างๆ ให้ปลอดจากแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน โดยเฉพาะเศษอาหารและมูลสัตว์เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่แมลงวันมักวางไข่และขยายพันธุ์มากที่สุด       
        นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำชะจากกองขยะ ซากสิ่งปฏิกูล เศษอาหารและเศษผักผลไม้ที่หมักหมมตามท่อระบายน้ำ หรือตามพื้นที่ในจุดต่างๆ ทั้งในบ้าน บริเวณบ้าน และชุมชน เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน หากไม่มีการกำจัดที่ถูกวิธีจะเป็นพาหะสำคัญที่นำโรคเกี่ยวกับระบบ ทางเดินอาหารมาสู่คน เช่น บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค และโรคหนอนพยาธิบางชนิด เนื่องจากแมลงวันจะบินไปได้ทั่วทุกหนแห่ง และแพร่ขยายจำนวนได้อย่างรวดเร็ว โดยมีช่วงชีวิตเฉลี่ย 6-12 วัน เพศเมียสามารถออกไข่ได้ 100-200 ฟอง โดยทั่วไปจะไม่วางไข่เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ตัวเมียชอบวางไข่ ในแหล่งที่มีอาหารสมบูรณ์ มีกลิ่นของเสีย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ เป็นสิ่งดึงดูดให้แมลงวันมาวางไข่ โดยเฉพาะกลิ่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และกลิ่นเหม็นอื่นๆ จากสิ่งปฏิกูล แมลงวันจะวางไข่ไว้ใต้พื้นผิวที่มีร่มเงาหรือส่วนที่ไม่สัมผัสกับแสงแดดซึ่งแหล่งอาหารที่แมลงวันชอบคือสิ่งสกปรกต่างๆ และจะนำสิ่งสกปรกมาปนเปื้อนกับอาหาร เมื่อคนกินอาหารนั้นเข้าไปก็จะก่อให้เกิดโรคตามมา จึงต้องควบคุมและป้องกันไม่ให้แมลงวันขยายพันธุ์ จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพของคน โดยแหล่งเพาะพันธุ์ที่แมลงวันมักวางไข่และขยายพันธุ์มากที่สุดคือ เศษอาหารและมูลสัตว์ ทั้งเศษอาหารจากทั้งตลาด อาคารบ้านเรือน โรงงานผลิตอาหาร และมูลสัตว์ในบริเวณบ้าน เช่น สุนัข แมว เป็นต้น หรือบริเวณพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ควาย หมู ไก่ เป็นต้น เนื่องจากมูลสัตว์มีความชื้นและความนุ่มที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของแมลงวัน
        “ทั้งนี้ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งอาหารของแมลงวัน ต้องกำจัดขยะ ประเภทเศษอาหาร เศษผักและผลไม้ โดยทิ้งในภาชนะที่ไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด หรือทิ้งในถุงพลาสติกซึ่งบรรจุอยู่ภายในถังโลหะหรือพลาสติก ที่มีฝาปิดมิดชิด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง รวมทั้งหมั่นสำรวจและล้างทำความสะอาดถังขยะไม่ให้มีเศษขยะ หมักหมมอยู่เสมอ เพื่อเป็นการควบคุมจำนวนแมลงวันไม่ให้มีเพิ่มมากขึ้น หากเป็นมูลสัตว์ควรมีวิธีกำจัดโดยการนำไปทำปุ๋ย เพื่อเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกพืช ในส่วนของการป้องกันแมลงวันภายในบ้านพักอาศัย โดยเฉพาะห้องครัว ควรกรุด้วยลวดตาข่าย เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันเข้าไปรบกวนหรือตอมอาหาร หากต้องการกำจัดแมลงวันด้วยสารเคมีต้องใช้อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามเอกสารแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและคนในครอบครัว” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
 
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 19 มิถุนายน 2561
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH