ชี้ ผลข้างเคียงฝังยาคุมกำเนิด ‘ปวดหัว แต่ไม่เพิ่มน้ำหนัก’ ย้ำ คุมดีประสิทธิภาพสู

  • 18 ตุลาคม 2561
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงอาการผลข้างเคียงยาฝังคุมกำเนิดอาจเป็นสิว ปวดศีรษะ แต่ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น พร้อมย้ำเป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง
       นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิด แบบกึ่งถาวรที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลา 3 ปี และ 5 ปี ไม่มีผลรบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์ สามารถใช้ในสตรีระยะให้นมบุตรโดยไม่มีผลไปรบกวนปริมาณและคุณภาพของน้ำนม และเมื่อหยุดใช้ยานี้แล้ว สามารถมีบุตรได้ตามปกติทันทีหลังหยุดใช้ยา การฝังยาคุมกำเนิดอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อย เช่น เป็นสิว ปวดศีรษะ หรือประจำเดือนมากระปริดกระปรอย ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปได้เองภายใน 6เดือน บางรายอาจมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่หลากหลาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันอย่างชัดเจนว่าการเพิ่มของน้ำหนักตัวเป็นผลโดยตรงจากยาฝังคุมกำเนิด       
         นายแพทย์บัญชา กล่าวต่อไปว่า บางรายอาจพบอาการขาดประจำเดือน ซึ่งผู้ให้บริการต้องให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการ รวมทั้งการหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะไม่มีประจำเดือน โดยซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจการตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์นอกมดลูก ถ้าไม่พบสาเหตุอื่นๆ ก็ให้การปรึกษาซ้ำว่าภาวะนี้พบได้เช่นเดียวกับการฉีดยาคุมกำเนิด และจะมีผลดีต่อภาวะโลหิตจาง ถ้าผู้รับบริการมีความวิตกกังวล ควรให้กำลังใจหรือให้ยาเพื่อลดความกังวล และนัดตรวจติดตาม ถ้ายังมีความวิตกกังวลมากหรือผู้รับบริการไม่ยอมรับภาวะการขาดประจำเดือน อาจต้องพิจารณาถอดยาฝังคุมกำเนิดพร้อมแนะนำวิธีคุมกำเนิด วิธีอื่นที่เหมาะสม โดยควรแนะนำให้ผู้รับบริการฝังยาคุมกำเนิดควบคุมอาหารและออกกำลังกายร่วมด้วย
       “ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งบรรจุเป็นแผนงานระดับประเทศเพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร โดย สปสช.ได้สนับสนุนการให้บริการคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวร (ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิด)ให้แก่ประชาชนไทยเพศหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20ปี ทุกสิทธิที่อยู่ในภาวะหลังคลอด แท้ง หรือต้องการคุมกำเนิด โดยสามารถขอรับบริการได้ที่สถานบริการในเครือข่ายของ สปสช.ทั่วประเทศ”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 18 มิถุนายน 2561

 

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH