ลดกินเค็ม ลดเสี่ยงโรค

  • 26 พฤษภาคม 2562
“ รสเค็ม ” มาจากเกลือหรือที่รู้จักกันดีคือโซเดียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย
โดยโซเดียม จะทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของเหลวในร่างกาย รักษาระดับความดันโลหิตรวมทั้งช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ(รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย)
“ โซเดียม ” มีในอาหารเกือบทุกชนิด มีในอาหารธรรมชาติ เช่น ข้าว แป้ง หมู ปลา ไข่ ผัก ผลไม้ ยังมีอยู่ในเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น เกลือ น้ำปลา  ซีอิ๊วขาว  ซอสหอยนางรม  ผงชูรสในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง  อาหารหมักดอง รวมทั้งอาหารแปรรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารประเภทขนมขบเคี้ยว
ดังนั้นในชีวิตประจำวันแม้จะไม่ได้ปรุงอาหารเพิ่มเราก็ได้รับโซเดียมจากอาหารธรรมชาติประมาณ 600 – 800 มิลลิกรัม โดยในหนึ่งวันร่างกายไม่ควรรับโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม หรือเปรียบเทียบกับเกลือ 1 ช้อนชา การกินอาหารเค็มมากเกินไปมีผลต่อสุขภาพ  ทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดในสมองแตก ไตวายได้
เทคนิคง่ายๆ ในการลดการกินเค็ม
  1. ชิมก่อนปรุงทุกครั้ง เพราะการปรุงอาหารอีกเป็นการเพิ่มโซเดียมโดยไม่จำเป็น
  2. ลดการเติมเครื่องปรุงรสในอาหารและไม่ควรมีขวดน้ำปลา ซีอิ๊ว ซอส เกลือ วางบนโต๊ะอาหาร
  3. ลดการกินอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน ผักดอง ผลไม้ดอง ปลาเค็ม ไข่เค็ม
  4. ลดการกินอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารพร้อมบริโภคแช่แข็ง
  5. ลดความถี่และปริมาณน้ำจิ้มของอาหารที่มีน้ำจิ้ม เช่น สุกี้ หมูกระทะ หอยทอด
  6. หลีกเลี่ยงการกินอาหารจานด่วน เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง
  7. ลดการกินขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม เช่น ข้าวเกรียบ มันฝรั่งอบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ
  8. อ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อทุกครั้ง เลือกอาหารที่มีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค
กลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนากำลังคนฯ ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก
4 มีนาคม 2562
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH