กรมอนามัย เผย ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง พบโรคในช่องปาก เสี่ยงสูญเสียฟัน แนะตรวจสุขภาพช่องปากปีละครั้ง

  • 13 เมษายน 2565

      #ANAMAINEWS  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง พบโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษาและมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นแนะลูก หลาน ดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในครอบครัว ให้ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสภาพฟันเหงือกรวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปาก และซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี

       นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ประสบปัญหาสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะการสูญเสียฟันมากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุที่มีฟัน เพื่อการบดเคี้ยวอาหาร ลูกหลานจึงต้องดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เนื่องจากพบว่ามากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุที่มีฟัน พบโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษาและมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้นจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ในปี 2560 พบว่า ร้อยละ 52.6 เป็นโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษา ร้อยละ 36.3 เป็นโรคปริทันต์ และร้อยละ 16.5 เป็นรากฟันผุ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุด จากข้อมูลใน HDC ปี 2563 ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่ ดังนั้น การส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุจะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้ โดยควรลดกินอาหารหวาน เหนียว เนื่องจากอาหารประเภทนี้จะเกาะติดผิวฟันเป็นเวลานาน ทำความสะอาดยาก เสี่ยงเกิดฟันผุและควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันแตกขณะเคี้ยวได้ ให้เน้นกินผักผลไม้ที่มีกากใยแทน

        ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงวรางคนา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่าผู้สูงอายุควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจสภาพฟันเหงือกรวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปากและซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผลเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี สำหรับผู้สูงอายุที่เหลือฟันแท้น้อยกว่า 20 ซี่ และใส่ฟันเทียมทดแทน ต้องถอดออกมาทำความสะอาดหลังกินอาหารทุกมื้อ ก่อนนอนให้ถอดออกแช่น้ำสะอาดทุกครั้ง โดยวิธีทำความสะอาดฟันเทียม สามารถทำความสะอาดได้ 3 วิธี ดังนี้ 1) ทำความสะอาดฟันเทียมด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มร่วมกับการใช้น้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจานแล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด 2) ทำความสะอาดฟันเทียมด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม ร่วมกับยาสีฟันชนิดครีม แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรใช้ยาสีฟันชนิดผงหรือที่มีส่วนประกอบเป็นผงขัด เพราะจะทำให้ฟันเทียมที่เป็นพลาสติกเสื่อมอย่างรวดเร็ว และ 3) หากใช้ฟันเทียมมานานจนเกิดคราบสีน้ำตาล มีคราบบุหรี่หรือคราบอาหารที่ล้างไม่ออก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลหรือมีเชื้อราในช่องปากได้ให้ใช้เม็ดฟู่สำหรับแช่ทำความสะอาดฟันเทียมเป็นครั้งคราว ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามคลินิกทันตกรรม ร้านขายยา หรือห้างสรรพสินค้าทั่วไป

***

กรมอนามัย /13 เมษายน 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH