แนะ กินปลาส้ม ปลาร้า ให้ปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดมะเร็งท่อน้ำดี

  • 12 พฤศจิกายน 2561
กรมอนามัย แนะนำประชาชน ให้เลือกกินปลาส้ม ปลาร้า ที่สะอาดถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร ปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับ ลดการเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี
        นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับถือว่าเป็นโรคที่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จากการเกิดมะเร็งท่อน้ำดีแบบไม่รู้ตัว และก่อผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ของคนไทยอย่างมาก จึงทำให้เกิดแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พ.ศ.2559–2568 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคีเครือข่ายภายใต้โครงการรณรงค์กำจัดปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามวิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นิยมบริโภคปลาร้า ปลาส้ม และปลาจ่อมแบบดิบๆ โดยไม่ผ่านความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงให้นานเพียงพอที่ทำให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง ยิ่งนำปลาน้ำจืดประเภทปลาเกล็ดมาหมักดองเป็นปลาร้า หรือปลาส้มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะยังมี ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับที่หลบซ่อนอยู่ใต้เกล็ดปลา ทำให้ผู้บริโภคปลาร้า ปลาส้ม หรือปลาจ่อมสุกๆ ดิบๆ ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และพยาธิใบไม้ตับที่ฝังตัวอยู่ในท่อน้ำดีได้ ซึ่งการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับที่ดีคือต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินปลาน้ำจืดที่สุกอย่างทั่วถึงด้วยความร้อนเป็นการกำจัดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงการป้องกัน รักษาสุขภาพ และการจัดการอาหารพื้นบ้านให้ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาลอาหาร
         ทางด้าน ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการ ควรคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย เลือกวัตถุดิบหรือปลาที่มีคุณภาพห่างไกลจากแหล่งรังโรค และจัดการด้านสุขาภิบาลของสถานประกอบการไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบกับชุมชน ในด้านกลิ่น น้ำเสียและขยะจากเศษปลา รวมทั้งจัดการสถานที่ผลิตให้ได้มาตรฐานป้องกันการปนเปื้อนและป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับชุมชน กระบวนการผลิตจะต้องมีเครื่องมือและเครื่องใช้ที่สะอาด มีมาตรฐาน และมาตรการป้องกันการปนเปื้อน น้ำที่ใช้ในการผลิตจะต้องมีคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานของกรมอนามัย มีระบบการกำจัดขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาล สถานที่เก็บวัตถุดิบต้องสะอาดเป็นสัดส่วน มีการป้องกันการปนเปื้อน สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงานจะต้องไม่เป็นโรคติดต่อหรือโรคที่น่ารังเกียจหรือมีบาดแผล สวมเสื้อผ้าที่สะอาด ตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ ไม่สวมเครื่องประดับ ไม่กินอาหารและเครื่องดื่ม ไม่สูบบุหรี่บริเวณปฏิบัติงาน ส่วนการเลือกซื้อปลาร้า ปลาส้ม หรือปลาจ่อม ในกรณีที่ซื้อแบบบรรจุขวดควรดูเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) หากซื้อแบบไม่บรรจุขวด ควรดูว่ามีสิ่งเจือปน และกลิ่นผิดแปลกจากที่เคยกินหรือไม่ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย และควรนำไปต้มใหม่หรือปรุงด้วยความร้อน ก่อนบริโภคทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงพยาธิใบไม้ได้
 
 ***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 23 สิงหาคม 2561

 

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH