หนุน แม่มือใหม่ให้นมลูกอย่างเดียวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน

  • 12 พฤศจิกายน 2561
กรมอนามัย หนุนแม่มือใหม่ให้นมลูกอย่างเดียวติดต่อกันถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้กินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัยจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ
          แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การพัฒนาสุขภาพแม่และเด็กเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่ายและถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารก ซึ่งระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนา ไม่เต็มที่ หลังจากทารกอายุครบ 6 เดือน เมื่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วจึงให้เริ่มกินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่นๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ ที่สำคัญไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีกรดคาร์บอนิก ซึ่งสามารถกัดกร่อนกระดูกและฟัน ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในเด็กทารก ทั้งนี้ ผลวิจัยทั่วโลกพบว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีโอกาสมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินประมาณ 3 จุด แต่จากผลสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของไทย ล่าสุดในปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 23 สาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีหลายประการ ได้แก่ แม่ต้องกลับไปทำงานก่อน 6 เดือน แม่เชื่อว่าน้ำนมไม่พอ หรือแม่เข้าใจผิดคิดว่านมแม่มีสารอาหารไม่เพียงพอ
          “สำหรับแม่วัยทำงาน ปัจจุบันมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการบีบเก็บน้ำนม หรือสามารถใช้มือตนเองบีบก็ได้ เริ่มจากการล้างมือให้สะอาด ใช้มือข้างที่ถนัดวางนิ้วหัวแม่มือไว้ด้านบนของเต้านม และนิ้วชี้ด้านตรงข้ามบริเวณขอบนอกของลานนม ห่างจากฐานหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร ไม่ควรวางนิ้วที่บริเวณหัวนมเนื่องจากจะไปกดท่อรูเปิดทำให้น้ำนมไม่ไหล แล้วกดนิ้วมือทั้งสองเข้าที่หน้าอกให้เต้านมบุ๋ม เมื่อบีบนิ้วเข้าหากันจนน้ำนมจะพุ่งออกมา ให้นำขวดแก้วหรือถ้วยรองรับน้ำนม เมื่อน้ำนมไหลให้ผ่อนนิ้วได้ โดยการกดบีบคลายเป็นจังหวะ 1-2 วินาทีต่อครั้ง น้ำนมจะไหลพุ่ง ให้บีบเป็นจังหวะจนกระทั่งน้ำนมน้อยลง จึงค่อยๆ เลื่อนนิ้วทั้งสองไปรอบๆ ลานนมแต่ละเต้าใช้เวลา 15 นาที น้ำนมก็จะเริ่มไหลช้าลง จากนั้นย้ายไปที่เต้านมอีกข้างหนึ่งโดยให้บีบสลับทั้งสองเต้าจนกระทั่งครบ 30 นาที ส่วนการเก็บน้ำนมในขวดหรือถุงเก็บน้ำนม ควรบีบเก็บเท่ากับปริมาณที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้ปิดฝาขวดหรือถุงให้มิดชิดทันที ถ้าตั้งไว้โดยไม่ใส่ในตู้เย็นน้ำนมจะอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าเก็บในตู้เย็นให้เก็บในส่วนที่เย็นที่สุดคือ ชั้นที่ติดกับชั้นแช่แข็งด้านในสุดจะเก็บได้นาน 2  วัน หากเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็นแบบ 2 ประตูจะเก็บได้นาน 3 เดือน แต่ห้ามเก็บไว้ตรงประตูตู้เย็น เพราะเป็นส่วนที่เปิด-ปิด ทำให้ความเย็นไม่คงที่ ในกรณีที่แม่ไม่มีน้ำนมหรือมีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการให้นมลูก แม่และครอบครัวควรเข้ารับคำปรึกษาจากบุคลากรสาธารณสุข แพทย์และพยาบาล หรือในโรงพยาบาลบางแห่งมีคลินิกนมแม่และมิสนมแม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะคอยให้คำแนะนำเพื่อให้แม่สามารถประเมินปัญหา ให้คำแนะนำ จัดท่าอุ้มลูกดูดนมได้ถูกต้อง ดูดได้ถูกวิธี ซึ่งการอุ้มลูกถูกวิธีและการดูดนมถูกวิธีจะช่วยลดปัญหาการเกิดแผลที่หัวนมหรือเจ็บเต้านม และการดูดบ่อยและ ดูดเกลี้ยงเต้าจะส่งผลให้น้ำนมคุณแม่ได้รับการกระตุ้นให้ไหลเพิ่มขึ้นจนเพียงพอ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
 
 ***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 24 กรกฎาคม 2561
กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH